วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๓ วันจักรี

วันจักรี คือ วันที่ระลึกแห่งการขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงยกทัพกลับ จากเขมรเพื่อเข้าปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรี ภายหลังบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว มุขอำมาตย์ราชมนตรีและราษฎรพร้อมใจอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญ รุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี ทรงฟื้นฟูการพระศาสนา พระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งของพระองค์คือ ทรงสร้างพระนคร ป้อม ปราสาทราชมณเฑียร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระนคร พระราชทานนามพระนครที่สร้างใหม่นี้ว่า “กรุงเทพ มหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” (ใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนจากบวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์) และโปรดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวไทยเป็น อเนกนานัปประการ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ ลักษณะเหมือนพระองค์จริง ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๔ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการกราบถวายบังคมทูลปีละ ๑ ครั้ง แต่ยังมิได้กำหนดเรียกว่า วันจักรี ครั้นในพ.ศ.๒๔๑๗ โปรดให้ย้ายที่ประดิษฐานพระบรมรูปไปประดิษฐานยังพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท  พ.ศ. ๒๔๒๕ โปรดให้ย้ายไป ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท

ครั้นในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานร่วมกับพระมหากษัตริย์ทั้ง ๔ รัชกาล ต่อมาโปรดให้ซ่อมแซมพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งถูก เพลิงไหม้ และเปลี่ยนนามใหม่เป็นปราสาทพระเทพบิดร พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ ๕ รัชกาล จากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ความปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๑ เล่มที่ ๓๔ หน้า ๑๑๖ ว่า”มีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๕ รัชกาล ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งศิวาไลยมหาปราสาทนั้น ยัง ไม่เหมาะแก่การพระราชพิธี ซึ่งเนื่องด้วยสักการบูชากราบถวายบังคม จึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้น เพื่อเปนที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามใหม่ว่า “ปราสาทพระเทพบิดร” แล ทรงพระราชอนุสรคำนึงถึงโบราณกาล ซึ่งได้ประดิษฐานมหาจักรีบรมราชวงศ์พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหา จักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเปนปฐมบรมกระษัตริย์ ได้มีพระเดชพระคุณแก่สยามรัฐประเทศ เมื่อมีโอกาสอันใดอันหนึ่งก็ต้องสแดงความเชิดชูพระเกียรติคุณเปนที่ระลึกแห่งพระองค์ ในครั้งนี้จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีในวันซึ่งเปนดฤถีคล้ายวันซึ่ง สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จกรีธาทัพกลับถึงพระนคร ได้รับอัญเชิญเสด็จครอบครองสยามราชอาณาจักร เปนปฐมวาระที่พระองค์ดำรงสยามรัฏฐ์ราชอาณาจักร นับว่าเป็นวันมหามงคลของมหาจักรีบรมราชวงศ์แลสยามประเทศ

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีพระราชพิธีถวายบังคม พระบรมรูปในวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี และโปรดฯ ให้เรียกวันนี้ว่า “วันจักรี” นับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๑  เป็นต้นมา นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้ากราบถวาย บังคมพระบรมรูปได้  ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ นั้นมีงานพระราชพิธีเป็นเวลา ๒ วัน ประชาชนทั่วไปจะได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๑ แต่ในปีต่อ ๆ มา โปรดให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมในวันที่ ๖ เมษายน อันถือเป็นวันที่ตรงกับวันจักรี

ใน พ.ศ.๒๔๗๐ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงหล่อกรมศิลปากร ประดิษฐานไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปีที่กรุงเทพมหานครครบ ๑๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ ๒ สิ่ง ได้แก่ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช        เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร เพื่อเป็นที่ระลึกในการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปีต่อมาทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ ๖ เมษายนของทุกปีเป็นวันสำคัญและเป็นวันหยุดราชการ และมีการกำหนดให้มีพิธีถวายบังคม วางพานพุ่มดอกไม้หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ณ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฏฐมรามาธิบดินทร โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและอัญเชิญมาประดิษฐาน ไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๒ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีพระราชพิธีหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฏฐมรามาธิบดินทร ที่โรงหล่อของกรมศิลปากรและอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร เหมือนในรัชกาลก่อน

ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๕ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช”มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาในวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ มติคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนชื่อการเรียกวันที่ ๖ เมษายนของทุกปีว่า วันจักรี เป็นวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรม ราชวงศ์ ในวันนี้ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะพร้อมใจกันวางพานพุ่มดอกไม้หน้าพระบรม ราชานุสาวรีย์ฯ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าและเข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปหล่อบูรพมหา กษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ทั้ง ๘ พระองค์ในปราสาทพระเทพบิดร เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทุกพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย

 

แหล่งที่มา: http://www.finearts.go.th/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า