13 ตุลาคม “วันนวมินทรมหาราช” วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9
วันที่ 2 ต.ค.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช” โดยมีรายละเอียดความว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่อาณาประชาราษฎร์ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อความวิวัฒน์พัฒนาของชาติบ้านเมืองเป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์และยังความผาสุขร่มเย็นแก่ผองพสกนิกรชาวไทย พระเกียรติคุณเป็นที่แช่ซ้องก้องประจักษ์ทั้งแก่ปวงชนชาวไทยและนานาอารยประเทศ แม้การเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 จะล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน
พสกนิกรทุกหมู่เหล่ายังล้วนคำนึงถึงด้วยความสำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่รู้ลืมเลือนเพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคต เป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน ประกอบกับวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2566เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือ “สัตตมวรรษ” รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำริประทานชื่อวันดังกล่าวเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยว่า “วันนวมินทรมหาราช” (อ่านว่า นะ-วะ-มิน-ทระ-มะ-หา-ราด) แปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ การนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงเป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร
มหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังเสด็จทรงศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร” พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในปี พ.ศ. 2492 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 หลังนิวัตประเทศไทย ณ วังสระปทุม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อประชาชนชาวไทยตลอด 70 ปีที่ครองราชย์ ได้รับสมัญญานามว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาชนบท การชลประทาน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา ศาสนา และการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ รวมถึงพระราชดำริสำคัญเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหมายถึงกรอบแนวคิดเพื่อการปฏิบัติตนโดยยึดหลักทางสายกลาง และความพอเพียง อันกลายมาเป็นหลักสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวไทย