skip to Main Content

พระราชพิธีฉัตรมงคล

ธรรมเนียมแต่ก่อนมีมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ ถึงเดือนหกพนักงานข้างหน้าข้างในบรรดาซึ่งรักษาเครื่องราชูปโกคและรักษาตำแหน่งหน้าที่ มีพระทวารและประตูวังเป็นต้น ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภคและตำแหน่งซึ่งตนรักษาคราวหนึ่ง ข้างฝ่ายหน้าแต่ก่อนมาถึงมีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วยก็มี แต่ข้างฝ่ายในนั้นมีแต่เครื่องสังเวยเครื่องประโคม แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายอุบะมาลัยแขวนตามกำลังมากและน้อย
เป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำนอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมรมราชาภิเษกในวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุน ตรีศก จุลศักราช 1213 จึงทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง ย่อมนับถือวันนั้นว่าเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามนี้เฉยๆ อยู่มิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้กาลบรมราชาภิเษกของพระองค์เฉพาะตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องสิริรารูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศลทรงพระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคลนี้ขึ้น แต่ข้อความซึ่งอธิบายในพระราชดำริให้เข้าใจกันในเวลานั้นว่า เป็นการทำบุญวันบรมราชาภิเษก เป็นการเข้าใจยากของคนในเวลานั้น หรือจะเป็นข้อทุ่มเถียงท้วงติงไปว่าเป็นการไม่เคยมี จึงได้ทรงพระราชดำริให้ปรากฏว่า เป็นการสมโภชเครื่องราชูปโภคอย่างเก่าซึ่งไม่มีผู้ใดจะทุ่มเถียงใด้ จนผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครทราบว่า ฉัตรมงคลแปลว่าทำบุญญอะไร ยกไว้แต่กรมสมสมเด็จพระเดชาดิศร ซึ่งข้าพเจ้ามิได้ฟังรับสั่งท่านเอง แต่สังเกตได้ในคำฉันท์กล่อมพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งรู้ได้ว่าท่านเข้าพระทัย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งได้สนทนากัน เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีฉัตรมงคลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการสวดมนต์ในวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้น ๑๔ ค่ำ สวดมนต์ ๑๕ ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณขึ้น ๑๕ ค่ำ สวดมนต์ แรม ๑ ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ การพระราชพิธีฉัตรมงคลท่านผู้บัญชาการก็ให้คงทำอยู่เดือนหกเช่นนั้น ข้าพเจ้าได้ทักท้วงขึ้นก็ไม่ตลอดไปใด้ ด้วยกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นด้วย เถียงไปตามทางที่เป็นสมโภชพระที่นั่ง อ้างคำฉันท์ก็ไม่อ่าน ข้าพเจ้าเป็นเด็กมีน้ำหนักน้อย และดูก็เป็นการไม่พอที่จะวิวาทด้วยเหตุไม่เป็นเรื่องจึงได้นิ่งระงับเสีย มีผู้เห็นด้วยแต่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอองค์เดียว แต่ท่านก็เถียงไม่ขึ้นหรือไม่สู้อยากเถียงเป็นธรรมดา การจึงได้ทำเดือน ๖ เรื่อยมาจนถึงปีระกา เบญจศก
เมื่อสร้างตราจุลจอมเกล้าเปลี่ยนได้ด้วยพาโลเป็นทำบุญตามพระราชบัญญัติวันประชุมตราจุมจอมเกล้า ก็นับได้อยู่ว่าเพราะเครื่องราชอริยยศจอมเกล้า พาให้เป็นที่ยินยอมพร้อมใจกันเปลี่ยนมาเดือน ๑๒ ได้โดยไม่มีใครทักท้วงว่ากระไร ลืมการที่ได้เถียงกันในปีมะเส็ง เอกศกนั้นเสียสิ้น ในปีจอ ฉศกเป็นปีแรกทำการฉัตรมงคลในเดือน ๑๒ เป็นการเรียบร้อยเหมือนไม่ได้เคยมีการฉัตรมงคลมาแต่ก่อนเลยทีเดียว

การฉัตรมงคลนี้ คงทำแบบอย่างซึ่งได้ทำมาในแผ่นดินพระบาทสนเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเต็มตามตำราทุกอย่าง เพิ่มขึ้นแต่อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงสลุตในวันแรม ๑๒ ค่ำ พึ่งเกิดมีขึ้น เมื่อปีนะเมียจัตวาศก 1244 กับการที่ประชุมถวายบังคมพระบรมรูป ซึ่งมีขึ้นตามกฎหมายตราจุลจอมเกล้าตั้งแต่ปีจอ ฉศก มาจนปีมะเส็ง ตรีศก ถวายบังคมพระบรมรูปที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ต่อถึงปีมะเมีย จัตวาศก จึงได้ย้ายมาพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทกับพระที่นั่งซึ่งมีการสมโภชนั้นยักย้ายไปบ้าง คือเวลาต่อมุขพระที่นั่งอนันตสมาคมย้ายมาทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย การแล้วก็กลับไปทำที่พระที่นั่งสนันตสมาคมตามเดิมเวลาซ่อมพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ย้ายมาทำที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท การที่ย้ายไปย้ายมาเช่นนี้ เป็นแต่ตามเหตุผลครั้งหนึ่งคราวหนึ่งแล้วก็คงที่ไปตามเดิม การพระราชกุศลนั้นดังนี้ คือพระราชาคณะพระครูมีนิตยภัตวันละ ๓๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าฉัน สำรับที่เลี้ยงพระเป็นของหลวงสำรับหนึ่ง นอกนั้นขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเป็นต้น หาสำรับคนละสำรับถวายพระสงฆ์ ในวันแรม ๑๑ ค่ำวันหนึ่ง แรม ๑๓ ค่ำวันหนึ่ง วันแรม ๑๒ ค่ำ เป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ผู้ซึ่งต้องเกณฑ์สำรับมีของไทยทานเล็กน้อย ถวายพระซึ่งได้ฉันสำรับตัวด้วย ที่นมัสการตั้งพระชัยสำหรับแผ่นดินห้ารัชกาลที่พระแท่นเศวตฉัตร ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงประจำแผ่นดิน มีเครื่องนมัสการทองน้อยทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า และตั้งต้นไม้ทองเงิน 2 คู่ เวลาเช้าตั้งเครื่องสังเวย ตั้งบายศรีแก้วทองเงิน มีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศเป็นกลอนลิลิต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงแต่ง แสดงพระราชดำริเรื่องพิธีตลอดจนถึงกฎหมายตราจุลจอมเกล้า ลงปลายขอพรตามธรรมเนียมเป็นคำประกาศทั้งปวง แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าทรงประเคน พระสงฆ์ฉันแล้วถวายเครื่องไทยทาน ยถาสัพพี สวดยานีและคาถารัตนสูตรแล้วจึงถวายอดิเรก แต่ในวันกลางคืนแรม ๑๒ ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระสงฆ์คณะธรรมยุกตินิกายฉันนั้น มีตั้งครอบพระกริ่ง จุดเทียนดับเทียนในเวลาสวดคาถารัตนสูตรด้วยน้ำปริตรนี้ถวายสงฆ์ในเวลาเย็นวันนั้น แต่วันแรม๓ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ไม่มี พระสงฆ์กลับไปแล้วทรงจุดเทียนเครื่องสังเวย โหรบูชาพราหมณ์อ่านดุษฎีคำฉันท์ซึ่งกรมสมเด็จพระเดชาดิศรทรงแต่ง จบแล้วจึงได้จุดแว่นเวียนเทียน พระบรมวงศานุวงศ์เคยมีจุดธูปเทียนจุดบูชาพระมหาเศวตฉัตรในเวลานั้นด้วย เวลาเวียนเทียนมีขับไม้ เวียนเทียนแล้วทรงเจิมพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงแล้ว พราหมณ์จึงได้รดน้ำสังข์จุณเจิม โหรผูกผ้าสีชมพูที่พระมหาเศวตฉัตรต่อไป เป็นเสร็จการสมโภชเวลาหนึ่งๆ ทั้งสามวัน

การพิเศษในวันแรม ๑๒ ค่ำ คือเวลาเช้า ๒ โมง เวลาเที่ยง เวลาบ่าย ๕ โมง ทหารบก ทหารเรือยิงสลุตตำบลละ ๑๐๐ นัด แบ่งเป็น ๓ เวลา เวลาบ่าย ๕ โมง พระบรมวสานุวงศ์และข้าราชการประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อเยียรบับเข้มขาบอัตลัดชั้นใน ประดับด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน สวมเสื้อครุยชั้นนอก ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานสายสร้อยตราจุลจอมเกล้าสวมสายสร้อยด้วย เสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์และมหาดเล็กเฝ้าประจำที่อยู่ก่อน ข้าราชการเดินเข้ามาเฝ้าเป็นลำดับ แล้วไปประจำที่ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ผู้ซึ่งควรจะได้รับตามกฎหมายแล้ว พระราชทานพรผู้ซึ่งดั้บครื่องราชอิสริยาภรณ์เก่าใหม่ และข้าราชการทั่วกัน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ทรงจุดเครื่องนมัสการทองทิศสี่สำรับถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสี่พระองค์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์มโหระทึกกลองชนะ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงจุดเทองน้อยสี่เครื่อง พระบรมวงคานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยจุดเทียนที่ราวถวายบังคมพระบรมรูปต่อไปตามลำดับ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในและภรรยาข้าราชการ บรรดาที่ได้รับพระราชทานกล่องและหีบจุลจอมเกล้า ประชุมที่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมุขตะวันตก จุดธูปเทียนถวายบังคมพระบรมรูปเหมือนข้างหน้า เป็นเสร็จการประชุมตามกฎหมามายตราจุลจอมเกล้าในวันเดียวนั้น

ที่มา : วรางคณา เพชรสน. (2552). พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ
        พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร.

Back To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า