ทรงพระเจริญ ๒๙ …
พระราชพิธีวิสาขบูชา

พระอรรถกถาจารย์เจ้ากำหนดไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ประสูติและตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเสด็จปรินิพพานในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะ วันกำหนดนี้จึงเป็นนักขัตฤกษ์ ซึ่งชนทั้งปวงผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้ทำการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คล้ายกับทำเฉลิมพระชนมพรรษาหรือแซยิดปีละครั้งแต่โบราณ การกำหนดที่พระจันทร์ ในวันเพ็ญเสวยวิสาขนักขัตฤกษ์นี้ แต่โบราณมาถือว่าตรงในวันเพ็ญเดือน ๖ เสมออยู่ไม่ยักเยื้อง ตลอดมาจนถึงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางวิธีแบบปักขคณนาคิด วันพระจันทร์เพ็ญให้ใกล้กับที่จริงเข้ากว่าแต่ก่อนวันวิสาขนักขัตฤกษ์จึงได้เคลื่อนไปเป็นเพ็ญเดือนเจ็ดบ้างในบางปี แต่ยืนอยู่ในเดือนหกโดยมาก ก็การที่ถือว่าพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์วิสาขะเป็นนักขัตฤกษ์ที่ควรประกอบการบูชาใหญ่ในพระรัตนตรัยซึ่งถือกันอยู่ในเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนามาแต่โบราณนั้น จะให้ได้ความชัดว่า ตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้มาประดิษฐานในแผ่นดินสยามแล้ว คนทั้งปวงได้ทำการบูชานั้นมาแต่เดิมหรือไม่ได้ทำ ก็ไม่มีปรากฏชัดในที่แห่งใด จนถึงกรุงสุโขทัยจึงได้ความตามหนังสือที่นางนพมาศแต่งนั้นว่า “ครั้นถึงวันวิสาขบูชา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบุรีรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกนิคมคามชนบทก็ประดับพระนคร และพระราชวังข้างหน้าข้างในจวนตำแหน่งท้าวพระยา พระหลวงเศรษฐี ชีพราหมณ์ บ้านเรือน โรงร้าน พ่วงแพ ชนประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสวห้อยย้อยพวงบุปผชาติประพรมเครื่องสุคนธรสอุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชวนกันรักษาพระอุโบสถศีลสดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทลิททก คนกำพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อไถ่ชีวิตสัตว์จาตุบทวิบาทชาติมัจฉาต่างๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล ก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่างๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสนาเป็นอันมาก เวลาตะวันชายแสงก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์และนางใน ออกวัดหน้าพระธาตุราชาอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราษฎร์บุรณพระวิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกสุทธราชวาสวันหนึ่ง ต่างนมัสการพระรัตนัตตยาธิคุณโปรยปรายผลผกาเกสรสุคนธรสสักการบูชา ถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่นรอบรัตนบัลลังก์ ประโคมดุริยางดนตรีดีดสีตีเป่าสมโภชพระชินศรี พระชินราช พระโลกนาถ พระสัฏฐารสโดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวตน” แล้วมีคำสรรเสริญว่า “อันพระนครสุโขทัยราชธานี ถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใดก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียนดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอนด้วยธงชายธงประดากไสวไปด้วยพู่พวงดวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกช่อชั้น” กล่าวไว้เป็นการสนุกสนานยิ่งใหญ่ เหมือนอย่างในหนังสือโบราณก่อนๆ ขึ้นไปที่ได้กล่าวถึงวันวิสาขบูชาดังนี้
แต่ส่วนที่ในกรุงเก่า มิได้ปรากฎมีในจดหมายแห่งหนึ่งแห่งใด ดูเป็นการลืมทีเดียว ตลอดลงมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์กรุงเก่า ก็ไม่ได้มีการพระราชกุศลวิสาขบูชา ตลอดมาจนปีฉลู นพศก จุลศักราช 1179 (พ.ศ. 23๖o) รัตนโกสินทรศก เป็นปีที่ 3๖ ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชซึ่งมาแต่วัดราษฎร์บุรณถวายพระพรให้ทรงทำวิสาขบูชาเป็นครั้งแรก การที่ทำถึงว่าในหมายอ้างว่าเป็นมหายัญญบูชาใหญ่ก็จริง แต่การที่จัดนั้นดูทำถึงว่าในหมายอ้างว่าเป็นมหายัญญบูชาใหญ่ก็จริง แต่การที่จัดนั้นดูเหมือนหนึ่งจะต้องถามกันว่าจะให้ทำอย่างไรจะควร ท่านพระสังฆราชนั้นจะต้องถวายพระพรอธิบายว่าที่ทำกันมาแต่ก่อนนั้น คือจุดโคมตามประทีปบูชาทั้งในพระอารามและตามบ้านเรือนทั้งปวง จึงโปรดให้ทำโคมปิดกระดาษเสาไม้ยอดผูกฉัตรกระดาษ เหมือนกับโคมบริวารการพระราชพิธีจองเปรียง แปลกแต่เสาทาปูนขาวเสียเหมือนโคมชัยโคมประเทียบ ให้ไปปักตามพระอารามหลวง พระอารามละสี่เสาเป็นส่วนตามประทีปในวัด ส่วนที่ตามประทีปตามบ้านเรือนนั้น ก็ให้อำเภอกำนันป่าวร้องให้ราษฎรจุดโคม เป็นการคร่าวๆ แรกๆก็เห็นจะมีบ้างแห่งละใบสองใบมีโคมข้าวแขกเป็นต้น เป็นส่วนที่จุดประทีปตามบ้านเรือนต้องด้วยอย่างเก่า อีกประการหนึ่งนั้นมีพวงดอกไม้มาแขวนบูชาตลอดทั้งสามวัน ก็ให้เกณฑ์ข้าราชการร้อยดอกไม้มาแขวนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันละร้อยพวงเศษ อีกประการหนึ่งนั้น มีดอกไม้เพลิงเป็นเครื่องสักการบูชา ก็ให้พุ่มดอกไม้เพลิงมาปักจุดที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกประการหนึ่งมีพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีล ก็ให้มีเทศนาของหลางตามวัดฝั่งตะวันออกสิบพระอาราม ฝั่งตะวันตกสิบพระอาราม และให้อำเภอกำนันป่าวร้องให้ราษฎรรักษาศีล อย่าให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และให้ชักชวนกันไปฟังพระธรรมเทศนา อีกประการหนึ่ง ว่ายกธงขึ้นบูชา ก็ให้ทำธงจระเข้ไปปักตามวัดหลวงวันละคัน อีกประการหนึ่ง ว่าเคยเลี้ยงพระสงฆ์ และถวายสลากภัตก็โปรดให้เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง และสดับปกรณ์พระบรมอัฐิด้วยข้าวสลากภัต และประกาศให้ราษฎรชักชวนกันทำสลากภัตถวายพระสงฆ์
การวิสาขบูชาที่ทำมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ เป็นต้น ตลอดจนรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นการคงยืนที่อยู่คือมีการพระราชกุศลเช่นได้พรรณนามาแล้วข้างต้น แต่ในท้ายรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงสร้างวัดสุทัศนเทพวราราม โปรดให้ทำเกยขึ้นสำหรับตั้งพระสัตตมหาสถานรอบพระอุโบสถและวิสาขบูชาก็ให้เชิญพระพุทธรูปออกตั้งแล้วมีเทศนาปฐมสมโพธิ ให้สัปปุรุษทายกไปฟังและเที่ยวนมัสการพระพุทธรูป ที่วัดพระเชตุพนก็ให้มีตะเกียงรายรอบกำแพงแก้วเพิ่มเติมขึ้น แต่การอื่นๆ ก็คงอยู่ตามเดิม ไม่ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้
ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำการวิสาขบูชา เป็นแบบมาแต่ยังทรงผนวชอยู่ จึงได้โปรดให้จัดการเพิ่มขึ้นตามแบบ เช่นพระสงฆ์คณะธรรมยุติกาทำอยู่เป็นการเพิ่มเติมขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ธรรมเนียมเดิมก็คงเป็นไปตามธรรมเนียมเดิม เว้นไว้แต่การเลี้ยงพระสงฆ์ในขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำนั้น ต้องกับงานฉัตรมงคลจึงได้ยกเลิกเสีย คงมีอยู่แต่วันแรมค่ำหนึ่งวันนั้นเป็นวันเลี้ยงพระที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จึงได้ยกาลานุกาลขึ้นไปทำบนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เชิญพระบรมอัฐิตั้งบุษบก เมื่อทรงเลี้ยงพระในพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว จึงได้เสด็จขึ้นไปสดับปกรณ์บนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เป็นสองงานประดังกันอยู่ ต่อมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เปลี่ยนฉัตรมงคลไปเดือนสิบสองแล้ว จึงได้มีการเลี้ยงพระในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน และการวิสาขบูชาในรัชกาลที่ ๔ นั้น ในตอนกลางๆ โปรดให้เกณฑ์เจ้านายข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาตามรอบเฉลียงพระอุโบสถ เป็นการครึกครื้นสนุกสนานมาก จนเกิดเล่นเครื่องโต๊ะลายครามกันขึ้น ในเวลานั้นเที่ยวเก็บหาสิ่งของที่มีอยู่แล้วในกรุงนี้ มาประสมกันให้ได้ชุดได้ลายตั้งขึ้นโต๊ะใหญ่บ้างโต๊ะเล็กบ้าง บรรดาใครเป็นเจ้าของก็มาคอยเฝ้าประชุมพร้อมๆ กัน ถ้าของผู้ใดไม่ดีก็รับสั่งให้ยกสิ่งของนั้นไปตั้งที่ตรงหน้า ถ้าผู้ใดถูกตั้งของที่หน้าเช่นนั้นก็เป็นที่อับอายกัน ต้องเที่ยวขวนขวายหาของที่ดีๆ มาตั้ง จนการที่จัดหาเครื่องโต๊ะนั้นเป็นการจำเป็นที่ต้องหาทั่ว ๆ หน้ากัน สิ่งของก็มีราคาแพงขึ้นต่างคนต่างเที่ยวหากันวุ่น เหมือนอย่างเล่นถ้วยป้านอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เป็นที่สนุกครึกครื้น ถ้าถึงวันวิสาขบูชา ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็เต็มไปทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ผู้หญิงผู้ชายหาที่ว่างไม่ได้ ครั้นภายหลังพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) เห็นว่าเครื่องโต๊ะมีราคาหาไม่ใคร่ได้ จึงได้สั่งเครื่องโต๊ะที่ครบชุดลายต่างๆ เข้ามา ๖๐ สำรับ ออกจำหน่ายขายผู้ที่ถูกเกณฑ์ตั้งโต๊ะราคาสำรับละ ๑๐ ชั่ง แต่นั้นมาการเล่นเครื่องโต๊ะก็จืดจางลง ด้วยของเก่าที่จะหาให้ครบสิ่งบริบูรณ์ได้เหมือนของใหม่ก็ไม่ใคร่มี เมื่อไม่มีของครบสิ่งก็ไม่อาจจะมาตั้งเพราะกลัวจะสู้ของใหม่ไม่ได้ ส่วนของใหม่ถึงเครื่องครบบริบูรณ์ก็จริง แต่นักเลงที่จะเล่นไม่ใคร่มีใครนับถือ เพราะเป็นของหาง่าย ไม่ต้องพยายามมากเหมือนหาของเก่า ลวดลายและสีครามก็สู้ของเก่าไม่ได้ ครั้นเมื่อการเล่นเครื่องโต๊ะจืดจางลงก็เป็นแต่ตั้งเป็นราชการ คนก็ไม่ใคร่มีใครๆ มาดู การที่ทรงตรวจตราเลือกเห็นนั้นซ้ำหลายปีเข้าก็เงียบๆ ไป ภายหลังจึงได้โปรดให้เปลี่ยนใหม่ เกณฑ์ให้ข้าราชการทำโคมตราตำแหน่งมาตั้งมาแขวน ส่วนของหลวงก็ใช้ตราหลวงแขวนที่ประตูพระอุโบสถทั้งหกประตู ในปีแรกที่เกิดโคมตราขึ้นนั้นก็เป็นการกึกก้องกาหลยิ่งใหญ่ คนที่มาดูกลับมากขึ้นไปกว่าเมื่อตั้งเครื่องโต๊ะด้วยโคมนั้นตั้งแขวนตามศาลารายและพระระเบียงโดยรอบเป็นทำเลกว้างคนจะเดินไปมาดูแลได้สะดวก ตั้งแต่เวลาพลบไปจนดึกแปดทุ่มสามยามยังไม่ขาดคน เป็นการสนุกครึกครื้นมาได้หลายปี จึงค่อยๆ กร่อยลงตามธรรมดา
มาในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อโคมกร่อยนักแล้ว กรมขุนภูวไนยนฤเบนทราธิบาล กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พร้อมกันทำต้นไม้ทำนองต้นไม้หลังธรรมาสน์มหาชาติในท้องพระโรงแต่ก่อน มีรูปภาพเรื่องต่างๆ ประดับที่กระถางตั้งหน้ามุขพระอุโบสถสามต้น เลียนอย่างต้นไม้คริสต์มาสของฝรั่งด้วยกลายๆ ก็เป็นที่ครึกครื้นมีผู้คนมาดูบ้าง แต่ไม่แน่นหนามากเหมือนอย่างเมื่อครั้งตั้งโต๊ะหรือแรกมีโคมตรา ครั้นเมื่อภายหลังจืดๆ เข้าก็เลิกไป การพระราชกุศลอันใดในการวิสาขบูชาซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนก็คงยืนที่อยู่จนถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ มีเพิ่มเติมขึ้น แต่ที่พระพุทธรัตนสถาน เมื่อเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ไปประดิษฐานในที่นั้นแล้ว จึงโปรดให้มีการบูชาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในที่เป็นอุบาสิกาเดินเทียนและสวดมนต์ คล้ายกันกับที่ทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีดอกไม้เพลิงสำรับเล็กบูชาด้วยเป็นการเพิ่มเติมขึ้นในรัชกาลปัจจุบันนี้
การซึ่งจะว่าต่อไปนี้ จะรวบรวมการพระราชกุศลในวิสาขบูชา บรรดาซึ่งมีอยู่บัดนี้มาว่าในที่แห่งเดียวกันเป็นการปัจจุบันต่อไป
คือในวันขึ้นค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ พระสงฆ์ฉันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยวันละ ๑๐ รูป ไม่มีสวดมนต์ แต่วันแรมค่ำหนึ่งนั้นเป็นวันสดับปกรณ์กาลานุกาล จึงได้มีพระสงฆ์เพิ่มขึ้นเท่าจำนวนพระบรมอัฐิพระอัฐิตามที่เคยสดับปกรณ์ และต้องสวดมนต์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำด้วย การที่สวดมนต์นี้เป็นสวดมนต์แทนพระสงฆ์ฉันเวรที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันสวดประจำทุกวันพระตามธรรมเนียม จึงได้ขึ้นไปสวดบนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ การสวดมนต์บนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ไม่ได้จัดเป็นที่สำหรับทรงฟังพระสงฆ์สวดมนต์จนจบ ธรรมเนียมที่เสด็จทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จอยู่แต่ก่อนทุกวันพระนั้นดังนี้ คือตั้งที่รองพระฉันเวรอย่างเก่า มีพระห้ามสมุทรฉันเวรองค์หนึ่งตั้งข้างใต้ หันพระพักตร์พระพุทธรูปไปเหนือ พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั่งข้างเหนือหันหน้ามาใต้ตรงพระพุทธรูป ปูอาสนะพระสงฆ์นั่งเต็มทั้งพระที่นั่งไม่ได้จัดเป็นแถว
ที่หน้าพระพุทธรูปมีเครื่องนมัสการตระบะถมฉันเวรราชอาสน์ทอดในระหว่างพระสงฆ์กับพระพุทธรูป เป็นที่ทรงกราบ ที่ประทับทอดค่อนมาข้างตะวันออก ไม่ได้ตั้งเครื่องไม่ได้ทอดพระแสง เมื่อเสด็จขึ้นไปทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว ไม่ได้ทรงศีล ทรงถวายหมากพลูใบชาธูปเทียนแล้ว รับสั่งถวายวัตถุปัจจัยมูลองค์ละสลึงหรือเฟื้อง ซึ่งชาวคลังมาคอยถวายอยู่ที่อัฒจันทร์ ทรงรับเงินนั้นพระราชทานให้สังฆการี สังฆการีว่าวิปัตติปฏิพาหายะก็เสด็จขึ้น ที่เป็นธรรมเนียมวันพระตามธรรมเนียม พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว มีบอกวัตรเหมือนอย่างสวดมนต์ที่วัด แต่การสวดมนต์วิสาขะนี้เสด็จขึ้นไปจุดเทียนอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีของถวายพระ พระสงฆ์ได้สวดมนต์เข้าลำดับสวดมนต์เวร สวดเจ็ดตำนานเป็นการจร เมื่อจบไม่มีบอกวัตร การที่เกิดสวดมนต์บนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์นี้ พึ่งเปลี่ยนในในรัชกาลที่ ๔ สวดมนต์เวรแต่ก่อนก็สวดในท้องพระโรง และการ
วิสาขบูชานี้ แต่ก่อนเมื่อไม่ได้เสด็จออกวัดก็เห็นจะสวดมนต์ในท้องพระโรงทั้งสามวัน ครั้นเมื่อเลิกสวดมนต์เลี้ยงพระส่วนวิสาขะในรัชกาลที่ ๔ ขาดตอนมาคราวหนึ่ง มากลับมีขึ้นในรัชกาลปัจจุนี้เมื่อมีการพระราชกุศลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเวลาค่ำอยู่แล้ว จึงได้เลิกสวดมนต์เสียเพราะจะซับซ้อนกันหลายอย่าง ยังคงแต่สวดมนต์วันสิบห้าค่ำไว้เพราะเป็นการแทนสวดมนต์เวรซึ่งเคยสวดอยู่ทุกวันพระ คงเป็นเลิกอยู่แต่วันขึ้นสิบสี่ค่ำกับวันแรมค่ำหนึ่ง การสวดมนต์เลี้ยงพระวิสาขะนี้เกือบจะเหมือนกับตามธรรมเนียมไม่เป็นงานการอันใด จำนวนพระสงฆ์ก็เท่ากับฉันเวรวันพระแปลกแต่เป็นพระราชาคณะทั้ง ๒๐ รูป การสดับปกรณ์กาลานุกาลก็เหมือนกับกาลานุกาลอื่นๆ แปลกแต่พระสงฆ์รายร้อยสี่ร้อยรูปเป็นสดับปกรณ์ข้าวกระกระทงเรียกว่าสลากภัต ส่วนเครื่องที่พระราชทานตามพระอาราม คือเทียนประจำกัณฑ์และธงจระเข้ ในวันแรกที่เจ้าพนักงานนำเข้ามาทูลถวาย จบพระหัตถ์หน้าพระสงฆ์ตามแบบแล้วจึงได้จ่ายไปตามวัด คือโคมวัดละสี่ใบ ธงจระเข้วัดละคัน
การเวลาค่ำซึ่งเป็นของเกิดขึ้นใหม่นั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พระพุทธบุษยรัตน์ ยังอยู่ที่หอพระเจ้าในหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีเทียนรุ่งของหลวงคืนละสองเล่ม แต่ได้จุดต่อวันขึ้น๑๕ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง มีพานแก้วเจียระไนจัดของคาวหวานผลไม้ต่างๆ ทำนองเป็นอย่างถวายข้าวพระ ตั้งแต่เวลาเช้าแล้วเลยอยู่จนค่ำหลายพาน ราวสักเก้าพานสิบพานได้ ตั่งม้ามีขวดน้ำเพ็ญวันพุธ ซึ่งทรงตักขึ้นไว้แต่ในเดือนสิบสอง มีไข่กออสตริชซึ่งเรียกว่าโอทเรศบ้างตั้งหลายใบวงสายสิญจน์ เสด็จขึ้นทรงนมัสการถวายข้าวพระแต่เวลาเข้าก่อนทรงบาตรเวลาหนึ่ง เวลาตั้งแต่พลบไปจนยามหนึ่ง ที่ทุ่มบ้างอีกเวลาหนึ่ง ซึ่งประทับอยู่ในหอพระนานนั้น ทรงสวดมนต์และเสกน้ำมนต์ลงยันต์ต่างๆ หลายสิบอย่างทุกๆ วัน แล้วจึงได้จุดดอกไม้ ดอกไม้นั้นมีแต่พุ่มดอกไม้เทียนสิบพุ่ม เหมือนอย่างลอยพระประทีป เมื่อภายหลังมาว่า เสด็จไปนมัสการที่พระพุทธสิหิงค์บนพระพุทธมนเทียรไม่ได้เสด็จมาที่หอพระ และบางที่แต่ก่อนย้ายไปนมัสการที่หอพระบนหลังคาตัดพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญก็มี ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าเคยถูกเกณฑ์ขึ้นไปจัดเครื่องนมัสการบนนั้น และยกของที่ตั้งข้าวพระลงมาเปลี่ยนเพราะห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไป เวลาค่ำที่เสด็จขึ้นไปนมัสการบนนั้นก็ต้องขึ้นไปรับใช้ และทำให้ชัดเจนว่าทำอะไรบ้างก็ไม่ถนัดเพราะเวลานั้นปอดเสียเป็นกำลังด้วยเรื่องกลัวผีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าขึ้นบันไดทีหนึ่ง ลงบันไดที่หนึ่งหน้าแข้งแตกทุกครั้งจนเป็นจำได้ดี ว่าถึงเวลาวิสาขแล้วหน้าแข้งคงเป็นแผลด้วยทางที่ขึ้นเป็นซอกแซก เมื่อก้าวขึ้นไปเสียงฝีเท้าตัวเองตึงๆ ก็นึกว่าผีวิ่งตาม ถ้าพอลุกออกไปถึงบันไดไม้ที่พาดบนหลังคาพระที่นั่งนงคราญเป็นกลางแจ้งแลดูเข้ามาข้างในมืด ยิ่งกลัวก็รีบก้าวหนักขึ้นไป บันได้นั้นคมเพราะเป็นไม้บางจึงได้กัดหน้าแข้งแต่ขึ้นไปทำอยู่บนนั้นจะสักกี่ปีก็จำไม่ได้ ดูหลายปีอยู่ จะเลิกเสียเพราะเหตุใด หรือเพราะเกิดไฟไหม้ขึ้นในการเฉลิมพระชนมพรรษาก็จำได้อีกเพราะอายุข้าพเจ้าในระหว่างนั้นอยู่ในเก้าขวบสิบขวบ การพิธีอย่างนี้ไม่ได้สนใจจะจำ ถามใครก็เห็นจะไม่ใคร่ได้ความ เพราะไม่มีใครได้ขึ้นไป ต้องขอตกลงเป็นว่ารวมๆ ไว้เพียงเท่านี้ทีหนึ่ง แต่สังเกตได้ว่าไม่มีเทียนรุ่งบนนั้น เทียนรุ่งคงมีแต่ที่พระพุทธบุษยรัตน์ ภายหลังมาเกิดขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์อีกคู่หนึ่ง ครั้นเมื่อในแผ่นดินปัจจุบันนี้ย้ายพระพุทธบุษยรัตน์ไปที่พุทธรัตนสถานแล้ว วันสิบสี่ค่ำไม่ได้จุดเทียนรุ่งและไม่ได้เดินเทียน ต่อวันสิบห้าค่ำ แรมค่ำหนึ่ง จึงได้จุดเทียนรุ่งและเดินเทียน เสด็จลงทรงจุดเทียนรุ่งที่พระพุทธสิหิงค์เทียนเจ้าเซ็นที่พระเจดีย์แล้วจึงจุดเทียนรุ่ง และเครื่องนมัสการที่พระพุทธรัตนสถาน ทรงนมัสการแล้วจ่ายเทียนพวกอุบาสิกาสวดนมัสการ แล้วออกเดินเทียน พระเจ้าลูกที่ยังทรงพระเยาว์กับอุบาสิกาและละครเด็กๆ โขลน ข้าเจ้านายออกเดินเทียนไปรอบอ่างแก้วข้างใต้ เลี้ยวขึ้นชาลาหลังพระพุทธรัตนสถาน ไปลงอ่างแก้วข้างเหนือเลี้ยวมาบรรจบรอบหน้าพระพุทธรัตนสถาน ในขณะนั้นเจ้านายฝ่ายในทรงจุดเทียนรายตามพนักทั้งสองชั้น และเทียนซึ่งปักฉัตรเช่นเรือนพระที่นั่งลอยพระประทีปที่ตั้งรายอยู่ตามชาลาชั้นล่าง ประโคมมโหระทึกพิณพาทย์ทั้งข้างหน้าข้างใน การที่ตกแต่งนั้นมีโคมตราเจ้านายฝ่ายในแขวนรายรอบเฉลียงพระพุทธรัตนสถาน และตั้งโต๊ะหมู่ที่มุขเด็จเป็นส่วนของเจ้าต๋ง โต๊ะหนึ่ง ตั้งที่มุขกำแพงแก้วข้างละโต๊ะ ตั้งที่ศาลาใกล้ประตูอมเรศสัญจรสองโต๊ะ เป็นส่วนของเจ้านายฝ่ายใน ตามกำแพงและพนักทั้งปวงนั้นรายโคมสว่างทั่วไป พระเจ้าลูกเธอและเจ้าจอมข้างในมีเทียนรุ่งมาจุดคืนละหลายๆ สิบเล่ม เมื่อเดินเทียนแล้วอุบาสีกาทำวัตรสวดมนต์พระราชทานเงินแจกคนละสลึงทุกวัน แล้วจึงเสด็จไปทรงจุดดอกไม้ที่หน้าหอเทวราชรูป มีเครื่องดอกไม้เพลิงเล็กๆ คือ พุ่มสิบพุ่มกระถางสิบกระถาง ระทาสิบระทา พะเนียงไข่ห้าสิบ เวลาทรงจุดดอกไม้มีประโคมพิณพาทย์ แล้วเสด็จออกทางประตูแถลงราชกิจ
ทรงจุดดอกไม้ที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พุ่มสิบพุ่ม มีซุ้มระย้าโคม ๔ ซุ้ม ซุ้มดอกไม้รุ่ง ๔ ซุ้ม ปักบูชาที่หน้าวัดในวัดพระศรีรัตนศาสดารามรายโคมตามพนักกำแพงแก้ว พระพุทธปรางค์ปราสาท พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และรอบพระอุโบสถ โคมตราข้าราชการแขวนบ้างตั้งบ้าง ตามชาลาและศาลารายพระระเบียงทั่วไป เสด็จขึ้นในพระอุโบสถทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการและเทียนรุ่งแล้วทรงนมัสการต่อไป แต่เทียนรุ่งเจ้านายและข้าราชการนั้น พระราชทานเพลิงไฟฟ้าออกมาให้จุดแต่หัวค่ำก่อนเสด็จพระราชดำเนินออก เทียนรุ่งเจ้านายข้าราชการตั้งที่ริมธรรมาสน์บ้าง ที่ข้างฐานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทั้งสองข้างเป็นอันมาก ภายหลังนี้มีเชิงเทียนเถาเจ็ดเชิง ตั้งที่ตรงพระพุทธยอดฟ้าเถาหนึ่ง พระพุทธเลิศเหล้าฯ เถาหนึ่ง เมื่อทรงนมัสการแล้ว ทรงสุหร่ายบูชา ประพรมเทียน และโปรยปรายดอกไม้ที่หลังธรรมาสน์และบนธรมาสน์ สนมจึงรับเทียนนั้นไปแจกข้าราชการผู้จะเดินเทียน และติดรายตามราวรอบพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนชนวนลงพระราชทานให้ข้าราชการจุดต่อจากพระหัตถ์ อาลักษณ์และราชบัณฑิตเจ้าของหน้าที่นุ่งขาวห่มขาว นอกนั้นข้าราชการที่เป็นขุนนางกรมต่างฯ บ้างตำรวจบ้าง เป็นผู้เดินเทียน เมื่อจุดเทียนแล้วนั่งกราบพระว่าคำนมัสการแล้วจึงลุกขึ้นยืน ผู้ที่ชักนำว่าคำนมัสการว่ารับพร้อมๆ กัน แล้วจึงเดินประทักษิณรอบพระอุโบสถภายในกำแพงแก้ว เจ้านายซึ่งยังทรงพระเยาว์เสด็จก่อนแล้วจึงถึงพวกที่นุ่งขาว ข้าราชการอื่นๆ เดินไปต่อภายหลัง กระบวนข้างในท้าวนางเป็นหัวหน้า แล้วจึงถึงโขลนและข้าเจ้าบ่าวข้าราชการ คอยบรรจบเข้ารอบที่หลังพระอุโบสถ ในขณะเมื่อเดินเทียนนั้น ทรงจุดเทียนรายตามราวเทียนรอบพระอุโบสถ และพระราชทานเทียนชนวนให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงจุดเทียนรายตามพนักกำแพงแก้วและราวเทียน เมื่อครบสามรอบแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนต่อไป ที่เขาต่อไม้และที่ราวเทียนรอบฐานชุกชี แล้วทรงธรรมเทศนาในการวิสาขบูชานี้ทั้งภาษามคธและภาษาไทยวันแรกตั้งแต่ประสูติจนถึงพรรณนาด้วยมหาปุริสลักษณะ วันที่สองตั้งแต่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จนตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ วันที่สามตั้งแต่เทศนาธรรมจักร จนถึงปรินิพพาน เครื่องกัณฑ์มีจีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง หมากพลู ธูปเทียนเงินสามตำลึง และขนมต่างๆ จัดลงโต๊ะเงินย่อมๆ อย่างละโต๊ะ เมื่อเทศนาจบแล้วก็เป็นเสร็จจากในส่วนวันนั้น เทียนที่ใช้ในการวิสาขะ เทียนรายเล่มละหกสลึง ที่พุทธรัตนสถาน ๖๐๐ เล่ม ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 3,000 เล่ม พระราชทานวัดบวรนิเวศ วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ เทียนรุ่งวัดละสองคู่ เทียนรายวัดละห้าร้อยเล่ม
ครั้นเมื่อวันแรมแปดค่ำ ซึ่งนับเป็นวันถวายพระเพลิงก็มีการบูชาและเดินเทียนอีกวันหนึ่งเหมือนกัน ยกเสียแต่โคมตราข้าราชการไม่ได้มีมาตั้งมาแขวน ถวายเทศนาเริ่มต้นตั้งแต่การบูชาพระพุทธสีรระจนถึงเจดีย์สิบ แต่เทียนรุ่งและเทียนรายที่พระราชทานไปวัดนั้นเปลี่ยนไปเป็นวัดบรมนิวาส ใช้เทียนรายหนักเล่มละบาท
อนึ่ง ตั้งแต่ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ขึ้นที่เกาะบางปะอิน ก็พระราชทานเทียนรุ่ง ๓ คู่ เทียนรายเล่มละหกสลึง ๑,๓๐๐ คู่ เล่มละบาท ๑,๐๐๐ เล่ม ถ้าประทับอยู่ที่บางปะอิน ก็เสด็จพระราชดำเนินทรงทำวิสาขบูชาที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เหมือนเช่นวัดพระศรีรัตนศาสดารามมิได้ขาดพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน และอุบาสกอุบาสิกาในวัดนั้นเดินเทียน แล้วทรงธรรมเป็นการวิเศษขึ้นอีกกัณฑ์หนึ่งด้วยที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นก็คงอยู่ตามเดิมมิได้ลดหย่อน การวิสาขบูชาวันแรมแปดค่ำ ในชั้นหลังมักจะเสด็จพระราชดำเนินวัดนิเวศน์ธรรรมประวัติมากกว่าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ที่มา : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า (2552). พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ใน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร.