วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

 

ความหมาย

​วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะหรือเดือน ๖ เนื่องในโอกาสคล้ายวันพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน

 

ความสำคัญ

​พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน เวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงถือว่าเป็นวันสำคัญของพระพุทธเจ้า หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท

 

ประวัติความเป็นมา

๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน อยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ แคว้นสักกะ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง ลุมมินเด ประเทศเนปาล) เมื่อเช้าวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ต่อมาพระองค์ได้เสด็จออกผนวช และทรงบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก จนได้ตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพุทธคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลักจากตรัสรู้แล้วพระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจโปรดผู้ควรแนะนำสั่งสอนให้ได้บรรลุมรรคผลจนนับไม่ถ้วน และเสด็จดับขันธปรินิพาน เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองกุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศอินเดีย สิริรวมพรรชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

 

๒. การถือปฏิบัติวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

การประกอบพิธีวิสาขบูชาในเมืองไทยเริ่มทำมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิฐานว่าน่าจะได้รับแบบอย่างมาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกราช กษัตริย์แห่งลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อๆ มาก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

ในสมัยสุโขทัยนั้นประเทศไทยกับประเทศลังกา มีความสัมพันธ์กันทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิดมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลักกาได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย ในหนังสือนางนพมาศ ได้กล่าวถึงบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้พอสรุปใจความได้ว่า  “เมื่อถึงวันวิสาขบูชาพระเจ้าแผ่นดินข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุกหมู่บ้านทุกตำบลต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วทั้งพระนคร เป็นการบูชาพระรัตนตรัยเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้งตกเวลาตอนเย็น ก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในเสด็จไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยต่างชวนกันรักษาศีล ฟังพระเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คำกำพร้า คนอนาถา คนแก่และคนพิการ บางพวกก็ชักชวนกันสละทรัพย์ซื้อสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อไถ่ชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระโดยเชื่อว่าจะทำให้ตนมีอายุยืนยาวต่อไป”

ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ ให้ปรากฏในแผ่นดินไทยต่อไปกับมีพระประสงค์จะให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุและอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศก โรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน ฉะนั้นการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ

. ความกตัญญู

ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น

– บิดามารดา มีอุปการคุณแก่ลูกในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบ ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน ให้ละเว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก

– ลูกเมื่อรู้อุปการคุณที่บิดามารดาทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของท่าน และเมื่อล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน

– ครูอาจารย์ มีอุปการคุณแก่ศิษย์ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี สอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบัง ยกย่องให้ปรากฏแก่คนอื่นและช่วยคุ้มครองศิษย์ทั้งหลาย

– ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารพไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู

– ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่งผลให้ครอบครัวและสังคม มีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และลูกก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน

– นอกจากบิดามารดากับลูก และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อันส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

– ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพพการีในฐานะที่สรงสถาปนาพระพุทธศาสนาและทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์

– พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ด้วยการทำนุบำรุง ส่งเสริม พระพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป

. อริยสัจ ๔

อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน มี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

– ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่และตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจ ปรารถนา รวมทั้ง ทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ

– สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญญาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิด เหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น

– นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญญาของชีวิต ทั้งหมดที่สามารถแก้ไข ได้นั้นต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้ ๘ ประการ (ดูมัชฌิมาปฏิปทา)

– มรรค คือ การปฏิบัติเพื่อจำกัดทุกข์ เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา เพื่อบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาที่ต้องการ

. ความไม่ประสาท

ความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูดและขณะคิด

สติ คือ การระลึกรู้ทัน ที่คิด พูดและทำ ในภาคปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน

การฝึกให้เกิดสติ ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถ กล่าวคือ ระลึกรู้ทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่งและนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่างๆ

 

กิจกรรมของวันวิสาขบูชา

กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว

๑. ทำความสะอาดบ้าน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งที่บูชาประจำบ้านและประดับไฟ ถวายเป็นพุทธบูชา

๒. ศึกษาเอกสาร หรือสนทนาเกี่ยวกับความสำคัญของวันวิสาขบูชา รวมทั้งหลักธรรมเรื่องความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาทตลอดทั้งแนวทางปฏิบัติในครอบครัว

๓. นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน เลี้ยงบิดา มารดา

๔. ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา

๕. ผู้ใหญ่ของครอบครัวพยายามสร้างความเป็นกันเอง พ่อแม่ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีเกี่ยวกับเบญจศีล และเบญจธรรม รวมทั้งมีความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ และอดทน

๖. ครอบครัวร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุ ปัญหาที่เกิดขึ้นและหาแนวทางแก้ไขจากกรณีตัวอย่าง

 

กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ศึกษา

๑. ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา และประดับไฟ ถวายเป็นพุทธบูชา

๒. ครูกับนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา รวมทั้งหลักธรรมเรื่องความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท ตลอดทั้งแนวทางปฏิบัติในสถานที่ศึกษา

๓. ครูให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการ ประกวดเรียงความทำสมุดภาพ ตอบปัญญาธรรม บรรยายธรรม และอภิปรายธรรม

๔. ประกาศเกียรติคุณของนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี

๕. ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา

๖. ส่งเสริมให้ครูใช้กิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท

๗. ส่งเสริมการวิจัยทางสังคมโดยใช้กระบวนการอริยสัจ ๔

 

กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน

๑. ทำความสะอาดบริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา และประดับไฟ ถวายเป็นพุทธบูชา

๒. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันวิสาขบูชา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง ความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท ตลอดทั้งแนวทางปฏิบัติในสถานที่ทำงาน

๓. จัดให้มีการบรรยายธรรมและสนทนาธรรม

๔. ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต

๕. หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม

๖. ประกาศเกียรติคุณผู้ที่มีอุปการคุณต่อองค์กร

๗. ส่งเสริมการนำวิธีการอริยสัจ ๔ ไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาองค์กร

 

กิจกรรมเกี่ยวกับสังคม

๑. ทำความสะอาดบริเวณ วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งโต๊ะหมู่บูชาและประดับไฟ ถวายเป็นพุทธบูชา

๒. วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ เรื่องวันวิสาขบูชา โดยใช้สื่อทุกรูปแบบ

๓. จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของวันวิสาขบูชา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง ความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท ตลอดทั้งแนวทางปฏิบัติ เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนในท้องถิ่น และตามสถานที่ชุมชน สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงธรรม ศูนย์การค้า และยานพาหนะต่างๆ

๔. เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์

๕. รณรงค์ทางสื่อมวลชนต่างๆ ให้ลดละ เลิก อบายมุข และให้งดจำหน่ายสิ่งเสพติดทุกชนิด

๖. ประกาศเกียรติคุณสถาบัน หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม

๗. รณรงค์ให้มีการรักษาสภาพแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณะ

๘. จัดประกวดบทร้อยกรอง บทความ บรรยายธรรม คำขวัญเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา และสวดสรภัญญะ

๙. ยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประพฤติดีและทำคุณประโยชน์ในสังคม

๑๐. จัดกิจกรรมสงเคราะห์คนชรา เด็ก คนพิการ พระสงฆ์อาพาธ ผู้ต้องขัง ผู้ด้วยโอกาสในสังคม

____________________________

ที่มาข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ข้อมูลวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม, หน้า ๑๐๑-๑๐๖

ที่มาภาพ: http://www.dhammathai.org/day/visaka.php  สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม  ๒๕๖๓

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า