วันที่ ๒๒ เมษาย…

ร่วมงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ ๒๓ “ยอยศสิปปศิลป์ นฤตยาพิพัฒน์สิบสองทศวรรษราชภัฏอยุธยา” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำตัวแทนนักศึกษาร่วมงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ ๒๓ “ยอยศสิปปศิลป์ นฤตยาพิพัฒน์สิบสองทศวรรษราชภัฏอยุธยา” ระหว่างวันที่ ๒๙ มกราคม – ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อทำนุบำรุงและสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ เปิดโลกทัศน์และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายและเผยแพร่ผลงานด้านนาฏศิลป์หรือการแสดงพื้นบ้านของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีในระดับชาติ
สำหรับเมื่อวานนี้(๓๑ มกราคม ๒๕๖๘) สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้นำการแสดงชุด “ระบำกินรีนบบูชามหาเจติยา” โดยแสดงเวทีที่ ๑ เวทีกลางแจ้งลานหลังวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งควบคุมการแสดงโดย อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมด้วย ผศ.ศุภัทรชญา วีระกูล ร้องผู้อำนวยการฯ ทั้งนี้อาจารย์ธีรพันธุ์ได้เผยว่า การแสดงชุดนี้มีเปรียบเสมือนในคืนวันเพ็ญ พระจันทร์กระจ่างฟ้า บรรยากาศน่าอภิรมย์ เหล่ากินนรีชักชวนคนธรรพ์ มาร่วมบรรเลงขับร้องและฟ้อนรำบูชาพระมหาธาตุ ท่วงท่าการร่ายรำได้รับแรงบันดาลใจจากท่วงท่านาฏลักษณ์นางกินรี ในงานศิลปกรรมยุคปลายกรุงศรีอยุธยาเชื่อมต่อมายังต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การเรียบเรียงดนตรี ใช้เพลงของเก่าที่มีท่วงทำนองเหมาะสมกับเนื้อหาและท่วงท่าการร่ายรำของนางกินรี มาเชื่อมร้อยกัน ประกอบด้วย เพลงรัวฉิ่ง เพลงนกกระจอกทอง และเพลงเหมราช บรรเลงด้วยวงมโหรีโบราณ ประกอบด้วย ซอสามสาย กระจับปี่ ระนาดแก้ว ขลุ่ยเพียงออ และเครื่องกำกับจังหวะ ถ่ายแบบการแต่งกายจากศิลปกรรมยุคปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินร์ ซึ่งผู้ออกแบบท่ารำเป็น อาจารย์วันทนีย์ ม่วงบุญ และอาจารย์วนิตา กรินชัย ศิลปินอาวุโสจากกรมศิลปากร และอีกหนึ่งความพิเศษของการแสดงชุดนี้คือ การบรรเลงดนตรีสดจากอาจารย์อาวุโสร่วมกับตัวแทนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบ ซอสามสาย บรรเลงโดย ผศ.ดร.รัชวิช มุสิการุณ กระจับปี่ บรรเลงโดย ดร.สกลพัฒน์ โคตรตันติ ระนาดแก้ว บรรเลงโดนายกรรธวัช แก้วอ่อน และขับร้องนำโดย อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ และอาจารย์วราเมษ วัฒนไชย ด้วยความลงตัวของการบรรเลงและขับร้องของวงดนตรีไทยรวมกับการร่ายรำที่อ่อนช้อยทำให้เป็นการแสดงที่ได้รับเสียงปรบมือและได้รับคำชื่นชมจากผู้ชมอย่างไม่ขาดสาย






