เทศกาลตรุษจีน

เนื่องในเทศกาลตรุษจีน สำนักศิลปะและวัฒนธรรมขอนำเสนอข้อมูลจากหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร ในส่วนของ “การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน” เนื้อหารายละเอียด ดังนี้

การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน เดือนสามเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๓ ด้วยทรงปรารภว่า ของซึ่งพวกจีนนำมาถวายในวันตรุษจีนนั้นมีมากมายเหลือเฟื้อ และยังเป็นของสดจำพวกสุกร เป็ด ไก่ ควรที่จะให้เป็นไปในทางพระราชกุศลจึงโปรดให้มีการเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยขึ้น ๓ วัน นิมนต์พระสงฆ์ฉันวันละ ๓๐ รูป พร้อมทั้งโปรดให้มีการจัดเรือขนมจีนมาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันไปทั้ง ๓ วัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เลี้ยงพระสงฆ์ด้วยเกาเหลาแทนขนมจีน ส่วนในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้มีเรือขนมจีนมาถวายเหมือนในสมัยรัชกาลที่ ๓

การนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ทรงพระปรารภของซึ่งพวกจีน  นำมาถวายในตรุษจีน เป็นของสดสุกรเป็ดไก่ พร้อมกันหลายๆ คน มากๆ จนเหลือเฟือ ก็ควรที่จะให้เป็นไปในพระราชกุศล จึงได้โปรดให้มีเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยขึ้นทั้งสามวันแต่ไม่มีสวดมนต์ พระสงฆ์ฉันวันละ ๓๐ รูป เปลี่ยนทุกวันตามคณะกลาง คณะเหนือ คณะใต้ โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และท้าวนางข้างในจัดเรือขนมจีนมาจอดที่หน้าตำหนักแพ พวกภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ๆ ที่ทรงรู้จักเคยเฝ้าแหนก็จัดเรือขนมจีนมาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันไปทั้งสามวัน ตัวก็มาเฝ้าด้วย แล้วให้ทนายเลือกกรมวังคอยรับขึ้นมาถวายพระสงฆ์ฉันแล้วจึงได้เลี้ยงข้าราชการต่อไป พระสงฆ์ฉันแล้วถวายสบงผืนหนึ่ง หมากพลูธูปเทียน กับใบชาห่อหนึ่ง  แต่วิธีอนุโมทนาของพระสงฆ์ในการตรุษจีนนี้ไม่เหมือนกันทั้งสามวัน แต่ใหนแต่ไรมา ลางวันก็มีสัพพะพุทธา ลางวันก็ไม่มี แต่เห็นว่าเป็นการพระราชกุศลตามธรรมเนียมเช่นนี้ โดยจะไม่มีสัพพะพุทธาก็ไม่เป็นการขาดเหลืออันใดทั้งมีและไม่มี และในการตรุษจีนนี้จ่ายเงินให้ซื้อปลาปล่อยวันละ ๑๐ ตำลึง บรรทุกเรือมาจอดอยู่ที่แพลอย เวลาทรงพระเต้าษิโณทกแล้ว โปรดให้พระเจ้าลูกเธอนำลงไปรดที่เรือปลา แล้วตักปลานั้นปล่อยไปหน้าที่นั่ง

ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าการที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้น  ไม่ใช่ของจีนแต่เป็นสักว่าชื่อเป็นจีน ให้ทำเกาเหลาที่โรงเรือยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีนเป็นของหัวป่าก์ชาวเครื่องทำ แล้วทรงสร้างศาลหลังคาเก๋งขึ้นที่หน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยศาลหนึ่ง ให้เชิญเทวรูปแล้วเจว็ดมุกในหอแก้วลงไปตั้ง มีเครื่องสังเวยทั้งสามวัน อาลักษณ์ อ่านประกาศ  เป็นคำกลอนลิลิตตามเนื้อความของคาถายานี และขอพรข้างปลายเป็นการเทวพลีให้เข้าเค้าอย่างเช่นของจีน  ที่พระพุทธรูปก็มีเครื่องเช่นอย่างจีนตั้งเพิ่มเติมข้าวพระด้วย และให้มีโคผูกต่างบรรทุกของถวายตรุษจีน คือ แตงอุลิด ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโตน้ำตาลทราย ส้มเป็นต้น วันละ ๓ โค ถวายพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งนำฉัน โคนั้นบรรทุกของ แล้วยืนถวายตัวที่โรงเรือริมทางเสด็จ แต่โคบางตัวก็บรรทุกได้ครึ่งหนึ่งบ้าง ค่อนหนึ่งบ้าง บางตัวก็บรรทุกไม่ได้เลย เป็นแต่ผูกต่างมายืนโคมๆ อยู่ ของก็กองอยู่หน้าโคเป็นพื้น การเลี้ยงพระที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยนั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์นั่งข้างตะวันออกที่ประทับอยู่ข้างตะวันตกริมน้ำ เพื่อจะได้ทอดพระเนตรทางแม่น้ำได้สะดวก ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าธรรมเนียมซึ่งจะตั้งที่ประทับต้องข้างพระราชวัง สำหรับที่จะหนีง่ายตามแบบเก่าที่เตรียมหนีมากกว่าเตรียมสู้ ซึ่งเคยทรงเยาะเย้ยธรรมเนียมต่าง ๆ มีผูกพระคชาธารให้เป็นเงื่อนกระทกเป็นต้น แต่ธรรมเนียมเช่นนั้นลงเป็นแบบแผนใช้มาช้านาน และธรรมดาเจ้าของบ้านเจ้าของเรือนก็คงจะต้องรับแขกอยู่หน้าประตูที่จะเข้าในเรือน หันหน้าออกข้างนอกผู้ซึ่งมาหา ก็ต้องมาจากภายนอก หันหน้าเข้าข้างใน จึงรับสั่งให้เปลี่ยนพระสงฆ์ไปนั่งตะวันตก ทอดที่ประทับทางตะวันออก ใช้มาจนตลอดรัชกาล ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านเห็นว่า ซึ่งที่ประทับมาอยู่ข้างในนั้นไม่เป็นทางที่จะเห็นน้ำเห็นท่าให้เป็นที่สบาย จึงได้ขอกลับเปลี่ยนไปอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอให้มีเรือขนมจีนขึ้นอย่างเก่า ให้ภรรยาของท่านและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จัดขนมจีนมาถวายและมาเฝ้าเหมือนอย่างแต่ก่อน ในการตรุษจีน สมเด็จเจ้าพระยาอยู่ข้างจะเป็นธุระเห็นสนุกสนานมาก ตัวท่านเองก็อุตส่าห์มาเฝ้าพร้อมกับขุนนางทั้ง ๓ วัน ทุกๆ ปีมิได้ขาดเลย เพราะเป็นการเวลาเช้าถูกอารมณ์ท่านด้วย เพราะฉะนั้น การเลี้ยงตรุษจีน จึงได้มีขุนนางผู้หลักผู้ใหญ่มาพรักพร้อมแน่นหนากว่าพระราชพิธีหรือการพระราชกุศลอื่นๆ แต่เรื่องเกาเหลาเลี้ยงพระนั้น เป็นของที่อันเหลือที่จะอัน แล้วผู้ทำก็ล้มตายหายจาก กร่อยๆ ลงก็เลยละลายหายไปเอง คงอยู่แต่เรือขนมจีนจนทุกวันนี้ ที่พระสงฆ์นั่งนั้นภายหลังมาก็กลายเป็นอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ครั้งนั้นท่านทรงตัดสินธรรมเนียมทอดที่ลงไว้เป็นแบบอย่างเสียแล้ว ผู้จัดการทั้งปวงก็ต้องวนลงหาแบบอย่างนั้นเป็นหลักฐาน

…………………………………………………………………………

บรรณานุกรม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (๒๔๕๔).  พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ใน

        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพมหานคร : ศิลปาบรรณาคาร.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า