เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า “วันปิยมหาราช” และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น “กรุงเทพมหานคร” ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น “สำนักพระราชวัง” ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ในเวลาต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี ตามลำดับ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้าน อาทิ ทรงยกเลิกระบบทาส ทรงยกเลิกธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย ส่งเสริมการศึกษา โดยจัดระบบการศึกษาแผนใหม่ให้ราษฎรได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน ทั้งทรงปฏิรูปการปกครองการบริหารแบบใหม่ แบ่งงานต่างๆ ออกเป็นกระทรวง จัดการปกครองหัวเมืองให้มีประสิทธิภาพ ทรงปฏิรูปเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเกษตร การอนามัย การสาธารณูปโภค มีการสร้างถนน ทางรถไฟ การใช้โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา ตลอดรัชสมัยได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรม พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ประเทศและประชาชนชาวไทย ทำให้ทรงเป็นที่รักเคารพและเทิดทูนยิ่ง
พระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของพระองค์ ก็คือ การเลิกทาส ตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงไม่ต้องการให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง และทรงเห็นว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่เหมาะกับประเทศที่เจริญแล้ว โดยในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทาส ห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส
ด้านการทหารและการปกครองประเทศ : ทรงนำแบบอย่างทางทหารของประเทศแถบยุโรปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป
ด้านการปกครองประเทศ : ทรงให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ จากเดิมมี 6 กระทรวง และได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้ง “มณฑลเทศาภิบาล” ขึ้นเป็นครั้งแรก อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย
ด้านเศรษฐกิจและการคลัง : ทรงให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น โดยทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกัน และทรงให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ แบงก์สยามกัมมาจล หรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน
ด้านการศึกษา : ทรงให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวังจัดการเรียนการสอน แล้วขยายออกไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ทั่วถึงประชาชน ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนา
ด้านการต่างประเทศ : พระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และพระองค์ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ เพื่อนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศ
ด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภค : ทรงให้สร้างถนนขึ้นหลายสายและทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพานข้ามคลองและทางรถไฟหลายแห่ง อาทิ สะพานเฉลิมสวรรค์เฉลิมศรี ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เป็นต้น
ด้านสาธารณูปโภค : ทรงมีพระราชดำริว่าประชาชนควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค พระองค์จึงทรงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้น นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง (ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย
เมื่อเสด็จสวรรคตไปแล้ว ประชาชนยังคงน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี รัฐบาลและประชาชนได้พร้อมใจกันให้เป็น “วันปิยมหาราช” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันปิยมหาราช ครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์