กิจกรรมแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมไทย – อาเซียน
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการโครงการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมขึ้น ณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม และเวทีกลางหน้าตลาดสดเทศบาลเมืองท่าข้าม ริมเขื่อนแม่น้ำตาปี อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างไทยและประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ และนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับงานด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ ตามพันธ์กิจของมหาวิทยาลัย
การจัดกิจกรรมเป็น ๒ ช่วง คือ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๖.๐๐ เป็นฐานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแสดง๕ ฐานการแสดง คือการแสดง ลิเกฮูลู จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช การแสดงเชิดหุ่นละครเล็กจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร การแสดงศรีศิลป์ถิ่นใต้ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี การแสดงระบำบาหลีจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย การแสดงระบำพม่าจากประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพ
ช่วงเวลา ๑๙.๐๐ – ๒๓.๐๐ น. การจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม ณเวทีกลางหน้าตลาดสดเทศบาลเมืองท่าข้าม ริมเขื่อนแม่น้ำตาปี อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีในพิธีเปิดงานงานครบรอบ ๑๐๒ ปี การพระราชทานนามสุราษฎร์ธานี โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมทรง นุ่มนวล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวแสดงความยินดีกับชาวสุราษฏร์ธานี ในโอกาสครบ ๑๐๒ ปี ในการพระราชทานนามจังหวัดสุราษฏร์ธานี และได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในการพระราชทานนามจังหวัดสุราษฏร์ธานี
ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานี และเทศบาลเมืองท่าข้ามได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมประกอบด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี แสดงสังคีตศิลป์สโมสร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร แสดงโขนหุ่น เรื่องพระพิฆเนศปราบมาร ครุฑยุดนาค และเรื่องจับนาง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช แสดงลิเกฮูลู มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี แสดงมโนราห์ ระบำดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง และศรีศิลป์ถิ่นใต้ ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า แสดง Duet Dance/Zawgyi Puppet Dancel/Royal Page-Boy Dance/Karen Done Yein “or” Myanmar National Race” ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย แสดง Panji Semirang ประเทศมาเลเซีย แสดงกลองมาเลเซีย และปิดท้ายการแสดงด้วยทอล์คโชว์หนังตะลุง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีฯ
การจัดแสดงครั้งนี้ ได้รับความร่วมใจและความพึงพอใจจากผู้ชม และผู้เข้าร่วมโครงการมาก นอกจากจะให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมทั้งหลายแล้วยังนำไปสู่มิตรภาพความสัมพันธ์อันดีในการติดต่อสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนา และแสดงถึงความร่วมมือเพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของสังคมสืบไป