Makha Bucha Day
ประวัติวันมาฆบูชา
“วันมาฆบูชา” เป็นวันที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ๒ ประการ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโอวาทปาฏิโมกข์ และพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร โดยตรัสขณะแสดงธรรมว่า “ต่อไปนี้อีก ๓ เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน” หลังจากทรงสั่งสอนพระธรรมมาเป็นเวลา ๔๕ ปี
ความหมายของคำว่า “มาฆบูชา”
ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ เหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน ๓ ปีนั้นเกิดเหตุอัศจรรย์ ๔ อย่าง เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต”
ความสำคัญของ “จาตุรงคสันนิบาต” ในวันมาฆบูชา
๑. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งพระสงฆ์เหล่านี้ต่างแยกย้ายไปจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ทุกรูปโดยได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เรียกว่าวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
๔. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน ๓) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์
ประวัติพิธีปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย
พิธีปฏิบัติ หรือพิธีกรรมวันมาฆบูชาในประเทศไทย เริ่มต้นสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพิธีพระราชกุศลนิมนต์พระสงฆ์วัดบวรนิเวศ และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวันพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้วพระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่าง ๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพี ทั้ง ๓๐ รูป ถือปฏิบัติตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
หลักธรรมสำคัญใน “วันมาฆบูชา”
หลักธรรมสำคัญในวันมาฆบูชา คือ “โอวาทปาติโมกข์” เป็นหลักธรรมอันเป็นหลักหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้แก่พระอรหันต์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูปในวันนั้น ได้แก่ การทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์
กิจกรรมในวันมาฆบูชาที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ
กิจกรรมในวันมาฆบูชา แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง ได้แก่ พิธีหลวง พิธีราษฎร์ และพิธีสงฆ์
๑. พระราชพิธี
สำนักพระราชวังจะมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันมาฆบูชา ออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทุกปี โดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่บางปีจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน
๒. พิธีราษฎร์
สถานศึกษา จะพานักเรียนไปประกอบพิธีในวัด ด้วยการนัดหมายให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อย นำเครื่องสักการะไปเวียนเทียนในช่วงบ่ายหรือเย็น ส่วนประชาชนนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปเวียนเทียนกันที่วัดในช่วงเย็น หรือช่วงค่ำ หลังจากฟังโอวาทเสร็จแล้วจะร่วมกันเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์
๓. พิธีสงฆ์
พระสงค์จะเป็นผู้นำประกอบพิธีต่าง ๆ ให้โอวาท สวดมนต์ แสดงธรรมและประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา และเจริญสมาธิภาวนา
ในวันมาฆบูชาช่วงเย็นถึงค่ำ
มีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ โดยเริ่มจากพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชาชนทั่วไป กระทำ ๓ รอบ ด้วยการเวียนทางขวาเรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ
รอบที่ ๑ ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
รอบที่ ๒ ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
รอบที่ ๓ ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา ช่วงเช้าพุทธศาสนิกชนควรเตรียมภัตตาหารทำบุญตักบาตร ช่วงบ่ายเดินทางไปวัดเพื่อฟังเทศน์ เจริญสมาธิภาวนา และช่วงเย็นเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ หรือร่วมทำบุญเวียนเทียนออนไลน์ได้ที่บ้าน เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรการของรัฐ ลดการแพร่ระบาดของโรคด้วย
ไปเวียนเทียนกันได้ที่ : www.เวียนเทียนออนไลน์.com หรือ www.ปฏิบัติธรรมออนไลน์.com
เริ่มเวียนเทียนออนไลน์ได้ตั้งแต่ ๑๔ ก.พ. ๖๕ เวลา ๑๑.๐๙ น. เป็นต้นไป
_____________________________
ขอขอบคุณที่มา :
๑. คอลัมน์วัฒนธรรม ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2039716)
๒. สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง อ้างใน ไทยรัฐออนไลน์