ประเพณีลอยกระทง

อาสาใหญ่ซ้าย ๑ เรือสางกรมทวนทองซ้าย ๑ เรือเหรากรมอาสารองซ้าย ๑ เรือกิเลนกรมเขนทองซ้าย ๑ เรือทุ่นสามพระคลังทอดเชือก ๑

            ที่ทุ่นกลางตรงหน้าบัลลังก์ มีเรือดอกไม้เพลิง ๒ ลำ เรือพิณพาทย์เหนือน้ำ ๑ ลำ ท้ายน้ำ ๑ ลำ เรือกลองแขกเหนือน้ำ ๑ ลำ ท้ายน้ำ ๑ ลำ มีเรือเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ๑ ใหญ่ซ้าย ๑ อยู่ใต้น้ำ เรือเจ้ากรมตำรวจในขวา ๑ ใหญ่ขวา ๑ อยู่เหนือน้ำ จับทุ่นสายกลางทั้งสิ้น มีเรือทหารปืนใหญ่เติมใหม่อยู่นอกทุ่นสายกลาง เหนือน้ำ ๑ ลำ ท้ายน้ำ ๑ ลำ

ทุ่นสายนอกเหนือน้ำ มีเรือกรมกองตระเวนขวา ๑ เรือประตูกรมมหาดไทย ๑ เรือทุ่นกรมอาสาวิเศษขวา ๑ กรมทำลุขวา ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขวา ๑ กรมคู่ชักขวา ๑

ท้ายน้ำ กรมกองตระเวนซ้าย ๑ เรือประตูกรมพระกลาโหม ๑ เรือกรมอาสาวิเศษซ้าย ๑ กรมทำลุซ้าย ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งซ้าย ๑ กรมคู่ชักซ้าย ๑

บรรดาเรือที่ทอดทุ่นทั้งปวง มีปืนหลักทอง ปืนจารงค์ มีโคมเพชรโคมสานประจำทุกลำเรือ แต่เจ้ากรมพระตำรวจนั้นแห่เสด็จลงไปถึงท่าราชวรดิตถ์แล้วจึงได้ลงเรือไปจับทุ่นตามหน้าที่ เวลาเสด็จขึ้นเจ้ากรมพระตำรวจไม่ได้แต่เสด็จ ในเวลาเมื่อลอยพระประทีปนั้น มีเรือคอยปักโคมกลีบบัวพายขึ้นล่องอยู่ข้างนอกข้างในทุ่นสายในจนตลอดเวลาเสด็จขึ้นบนฝั่งตะวันตก มีเจ้ากรมปลัดกรมไพร่หลวงประจำรักษาตรงหน้าเรือบัลลังก์ ๕ กอง ข้างฝั่งตะวันออกบนชาลาพระที่นั่งราชวินิจฉัยมีพิณพาทย์ผู้หญิงสำรับ ๑ โขลนนั่งรายตามชาลา เจ้าจอมอยู่งานประจำโมงยามและเถ้าแก่รับเสด็จบนพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทหารรักษาป้อม ๒ ป้อม และรายทางตลอดเข้ามาจนในพระบรมมหาราชวัง เจ้ากรมปลัดกรมไพร่หลวงตั้งกองอีก ๒ กอง คือข้างใต้ฉนวนกอง ๑ ท่าขุนนางกอง ๑

กระทงหลวง ซึ่งสำหรับทรงลอยที่มีมาแต่เดิมนั้น คือเรือรูปสัตว์ต่างๆ เรือศรี เรือชัย เรือโอ่ เรือคอน และมีเรือหยวกติดเทียน ๒ เล่ม ธูปดอก ๑ ห้าร้อย แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดให้ลดเรือหยวกลงเสีย เหลืออยู่สี่สิบห้าสิบลำ และเรือที่ลอยประทีปนั้น ของหลวงชำรุดทรุดโทรมไป โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทำขึ้นทุกกรมเรือหลวงที่ยังเหลืออยู่ เรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ส่งมาเป็นหลวงถวายจุดก่อนตอนหนึ่ง แล้วจึงถึงเรือสำเภาซึ่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นผู้แต่งแล้วจึงถวายเรือพระบรมวงศานุวงศ์ต่อไป แต่เรือข้าราชการนั้นเป็นเรือกระบวนเมื่อรับสั่งให้ปล่อยเมื่อใดจึงจุดเทียนปล่อยมาตามกลางน้ำหว่างทุ่นชั้นในกับเรือบัลลังก์ เคยปล่อยอยู่ในเวลาจุดดอกไม้

เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีระกา สัปตศก ๑๑๘๗ ปีจอ อัฐศก ๑๑๘๘ โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทำกระทงใหญ่ถวาย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดหมายไว้ว่า “ครั้นมาถึงเดือนสิบสอง ขึ้นสิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ แรมค่ำหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้นเดิมได้โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน และข้าราชการที่กำลังพาหนะมากทำกระทงใหญ่ ผู้ต้องเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้างแปดศอกบ้างเก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอดสิบศอกสิบเอ็ดศอก ทำประกวดประขันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง ๔ บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนเลี้ยงพระช่างเบ็ดเสร็จก็ถึงยี่สิบชั่งบ้าง ย่อมกว่ายี่สิบชั่งบ้าง กระทงนั้นวันสิบสี่ค่ำเครื่องเขียว สิบห้าค่ำเครื่องขาว แรมค่ำหนึ่งเครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกหาตามสีกระทง และมีจักรกลไกต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่จะพรรณนาว่ากระทงท่านผู้นั้นทำอย่างนั้นๆ คิดดูการประกวดประขันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่างๆ กัน เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย ๔ โมงเรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่แต่บ่าย ๕ โมง หรือเบียดเสียดสับสนกันหลีกไม่ใคร่จะไหวดูเป็นอัศจรรย์ เรือข้าราชการและราษฎรมาดูเต็มไปทั้งแม่น้ำ ที่ต้องขอแรงทำกระทงนั้น ในพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่คือกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๑ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (คือหม่อมไกรสร) ๑ กรมหมื่นเดชอดิศร (คือกรมสมเด็จพระเดชาดิศร) ๑ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ (คือกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) ๑ ขุนนาง ท่านเจ้าพระยาอภัยภูธร ๑ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ๑ ท่านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ๑ พระยาพิชัยวารี (คือเจ้าพระยานิกรบดินทร์) ๑ พระยาราชมนตรี(ภู) ๑ พระยาโชฎีกราชเศรษฐี (ทองจีน) ๑ รวม ๑๐ กระทง”

คำเล่าถึงกระทงใหญ่ ๒ ปีนี้มีพิสดารเรื่องราวยืดยาวมาก ครั้นจะว่าก็จะยืดยาวหนักไป เห็นว่าที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าไว้นี้ก็พอสมควรอยู่แล้วแต่กระทงใหญ่เช่นนี้ไม่มีต่อไป เพราะทรงทราบว่าต้องลงทุนมาก จึงให้เลิกเสียเจ้านายข้าราชการฝ่ายในจึงรับทำกระทงใหญ่แทน กระทงใหญ่ฝ่ายในเซ่นที่ทำกันนี้น่าสงสัยว่าจะมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ แล้ว แต่ไม่ปรากฏในจดหมายแห่งใด และไม่มีตัวผู้ที่จะบอกเล่า จึงไม่สามารถที่จะกล่าวว่าเป็นธรรมเนียมเดิมได้ กระทงข้างในนั้นขนาดย่อมลงมาเพียง ๓ ศอก ๔ ศอกจนถึง ๖ ศอก ในชั้นหลังลงมาตัวที่ทำนั้น คงเป็นผู้ทำยืนที่ประจำทั้ง ๓ วันอยู่แต่กรมขุนกัลยาสุนทรกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และเจ้าคุณปราสาท นอกนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอเข้ากันทำวันละกระทง พระเจ้าน้องนางเธอเข้ากันทำวันละกระทงหนึ่งบ้างสองกระทงบ้าง พระองค์เจ้าดวงเดือนมีวันหนึ่ง พระองค์เจ้าวังหน้าซึ่งเสด็จลงมาอยู่ในพระบรมมหาราชวังทำวันหนึ่ง คงอยู่ในมีกระทงวันหนึ่งเจ็ดกระทงแปดกระทงใช้ประดับด้วยเครื่องสด รูปภาพฟักทองมะละกอ ไม่มีเครื่องกลไกอันใด รูปกระทงก็ยืนที่ไม่ได้เปลี่ยน ผู้ใดเคยทำอย่างใดก็ทำตามเลย ประกวดประขันกันแต่รูปภาพเครื่องสดและดอกไม้ที่ร้อยประดับตกแต่ง กระทงหนึ่งก็สิ้นอยู่ในสองชั่งสามสิบตำลึง มีมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ รูปกระทงเหล่านี้เขียนอยู่ที่วัดยานนาวารามหลายอย่าง

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ มีติดต่อมาอีก ๒ ปี ทรงทราบว่าเป็นการเปลืองเงินพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในมีผลประโยชน์น้อย จึงโปรดให้เลิกเสีย เกณฑ์เรือพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเติมขึ้นตามที่กล่าวมาแล้ว และภายหลังจึงโปรดให้มีเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือชัยแต่งแทนกระทงใหญ่สองลำ บรรดาเครื่องสูงที่ประจำตามกระทงเปลี่ยนเป็นฉัตรเทียน หว่างฉัตรมีบังแทรก ธงที่นักสราชถือหัวเรือท้ายเรือก็มีเทียนประจำ ตามกระทงเรือตั้งเชิงเทียนใหญ่มีเทียนเล่มยาวๆ จุดทุกกระทง ในบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อย หน้าบุษบกตั้งเครื่องนมัสการทองทิศ แต่เรือชัยลำหลังตั้งพานพุ่มไม้มีเครื่องนมัสการ ทรงจุดเทียนเรือพระที่นั่งสองลำก่อน แล้วจึงได้จุดเทียนเรือกระทงต่อไป เรือพระที่นั่งนั้น พายร้องเห่ล่องลงไปตามลำน้ำแล้วจึงทวนน้ำกลับขึ้นมาในระหว่างทุ่นสายกลางกับสายนอก

  ครั้นถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เรือชัยลำหลังเปลี่ยนเป็นเรือสุพรรณหงส์ซึ่งชำรุดทรงซ่อมแซมขึ้นมาใหม่บ้าง พระพุทธรูปพุทธสิหิงค์น้อย ยกเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาวันรัชกาลที่ ๔ จึงได้เปลี่ยนพระไชยวัฒน์ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ลงในเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชแทน ส่วนกระทงใหญ่นั้นทรงพระปรารภว่ายังไม่เคยทอดพระเนตรมาแต่เดิม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในจึงได้พร้อมกันทำถวายทอดพระเนตร กระทงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอนั้นมีเครื่องจักรกลไกอย่างกระทงข้างหน้าแต่ก่อน แต่กระทงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเป็นอย่างกระทงข้างใน เมื่อได้ทอดพระเนตรแล้ว ก็ไม่ได้ชโรดให้มีต่อไปทุกปี นานๆ จึงจะมีคราวหนึ่ง จนในครั้งหลังที่สุดนี้ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าพระราชเทวี ได้ทำถวายเป็นอย่างกระทงข้างหน้า มีเครื่องจักรกลไกทั้งสามกระทงอีกคราวหนึ่ง กระทงใหญ่นั้นทรงจุดภายหลังเมื่อสิ้นเรือลอยประทีปทั้งปวง ถ้าปีใดมีกระทงใหญ่ก็เป็นการครึกครื้นเอิกเกริกยิ่งกว่าทุกปี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า