ประเพณีลอยกระทง

อนึ่ง ในเดือนสิบสองนี้ มีเรือผ้าป่าของหลวงเรียกว่าผ้าป่าบรรดาศักดิ์คืนละ ๘ ลำ ยึดทุ่นสายกลางอยู่ข้างเหนือน้ำ ผ้าป่านี้พระราชทานแด่พระราชาคณะ พระครูหัวเมือง ที่เข้ามาในการฉลองไตรเปลี่ยนไปวันละ ๘ รูปเวลาลอยพระประทีปแล้วทรงพระเต้าษิโณทกแล้วเสด็จขึ้น ลดโคมสัญญาณเป็นกำหนด

อนึ่ง การทอดผ้าป่าวิเศษ ซึ่งเป็นของหลวง แต่ก่อนเคยมีมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีผ้าป่าวัดปทุมวันติดๆ กันไปหลายปี พึ่งมาขาดตอนในปลายแผ่นดิน ในการผ้าป่านั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือกระบวนอย่างพระราชทานพระกฐินเวลาบ่ายพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ มีเรือกระจาดผ้าป่าจอดเรียงรายอยู่ในน้ำหน้าพระอุโบสถ มีเครื่องประโคมพิณพาทย์และการเล่นคือเพลงและลาวขับแพนเป็นต้น เล่นในเรือเวลาสวดมนต์จบ ประทับแรมที่พระที่นั่งเก่งที่ริมสระนั้นคืนหนึ่ง เวลารุ่งเข้าพระสงฆ์รับบิณฑบาตเรือในสระ ๓๐ รูป เวลาเพลรับพระราชทานฉันแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ มีที่วัดปทุมวันครั้งหนึ่ง เป็นการเอิกเกริกโกลาหลยิ่งใหญ่ ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการแต่งเรือผ้าป่า ตามแต่ผู้ใดจะแต่งอย่างไร บ้างก็ทำเป็นรูปยักษ์ รูปสัตว์ต่างๆ บ้างก็เป็นกระจาดข้อนกันสามชั้นห้าชั้น ประกวดประขันกันโดยความคิด แล้วมีเรือการเล่นต่างๆ ละคร มอญรำขับแพนเพลง เสภา พิณพาทย์หลายสำรับ ชักผ้าป่าผ่านหน้าพระที่นั่งชลัง-คณพิมาน(๑) เป็นกระบวนแห่มีเรือราษฎรมาช่วยแห่ผ้าป่าหลายร้อยลำ ชักผ้าป่าแต่เวลากลางวันจนเวลาค่ำ จึงได้ถึงวัดปทุมวัน แล้วจอดเรือผ้าป่าเรียงรายอยู่ตามในสระตอนข้างหน้าวัด วางเรือการเล่นเป็นระยะไปรอบสระ มีเรือราษฎรเข้าไปขายของกินต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะไป ในเวลาค่ำวันนั้นเรือราษฎรที่ไปดูผ้าป่าเต็มแน่นไปทั้งสระ จนเวลาจวนสว่างจึงได้ทอดผ้าป่า ประทับแรมคืนหนึ่ง และสวดมนต์เลี้ยงพระเหมือนอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้าป่าวัดปทุมวันนี้คงได้ทอดอยู่ในข้างแรมเดือน ๑๒ เวลาฉลองไตรปีแล้วทุกครั้ง ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับอยู่บางปะอินเนื่องๆ เมื่อยังไม่ได้สร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ก็ได้มีการผ้าป่าวัดชุมพลนิกายาราม มีกระบวนแห่บ้างไม่มีบ้าง เสด็จพระราชดำเนินเข้าในกระบวนแห่ก็มี เป็นการเบ็ดเตล็ดนอกธรรมเนียม เครื่องของไทยทานเป็นของหลวงบ้างของกรมพระตำรวจและมหาดเล็กที่ตามเสด็จพระราชดำเนินจัดถวายช่วยในการพระราชกุศล คนละสิ่งสองสิ่งบ้าง ครั้นเมื่อมีวัดนิเวศน์ธรรมประวัติเพิ่มจำนวนของผ้าป่ามากขึ้นพอทั้งสองวัด เวลาค่ำมีการฉลองผ้าป่าในสระ มีเรือการเล่นต่างๆ ตามสมควร และเรือราษฎรที่อยู่ในหมู่บ้านเหล่านั้นเข้ามาดูการเล่นเป็นอันมาก ครั้นเวลาดึกก็ซักผ้าป่าไปทอดทั้งสองวัด เสด็จพระราชดำเนินบ้าง ไม่ได้เสด็จบ้าง มีแต่การทรงบาตร ไม่ได้สวดมนต์เลี้ยงพระถ้าปีใดเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินเดือน ๑๑ ก็มีผ้าป่าเดือน ๑๑ถ้าพระราชทานพระกฐินเดือน ๑๒ ก็มีผ้าป่าเดือน ๑๒ ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน การผ้าป่านั้นก็เลิก ถ้ามีที่เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปเมืองลพบุรี ก็มีผ้าป่าวัดมณีชลขันธ์เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ราษฎรชักผ้าป่าแห่ไปตามลำน้ำตั้งแต่เวลาเช้า ตามแต่พวกใดจะพาไปแห่งใดไม่มีกำหนด ต่อเวลาค่ำจึงได้จอดเรือที่หน้าแพที่ประทับในท้องพรหมมาศ มีการเล่นและจุดดอกไม้เพลิงเป็นการฉลอง จนเวลาดึกจึงได้ชักผ้าป่าไปทอด การทอดผ้าป่าตามวัดต่างๆ เช่นนี้ไม่เป็นการมีเสมอ เป็นการนอกแบบ แล้วแต่จะโปรดให้มีแห่งใดก็มีขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว วัดอื่นๆ ที่ไม่เคยมีผ้าป่า เช่น วัดราชบพิธเป็นต้นก็มี จะพรรณนาก็จะยืดยาวไป (พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๔๕๔ : ๑๖-๒๗)

…………………………………………………………………………

(๑) พระที่นั่งองค์นี้อยู่ในหมู่พระที่นั่งที่ท่าราชวรดิตถ์ เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว

บรรณานุกรม
พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.(๒๔๕๔).กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า