ประเพณีลอยกระทง

เนื่องในเทศกาลประเพณีลอยกระทง สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ขอนำข้อมูลจากหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร ในส่วนของ “พระราชพิธีลอยพระประทีป” เนื้อหารายละเอียดดังนี้

 

พระราชพิธีลอยพระประทีป เดือนสิบสอง
กฏมนเทียรบาลเรียกพระราชพิธีนี้ว่า พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม
โดยพระมหากษัตริย์เสด็จออกลอยพระประทีปในเวลากลางคืน และทอดพระเนตร
การนักขัตฤกษ์ ส่วนพระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายในตามเสด้๗ในเรือพระที่นั่ง

การฉลองพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นได้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ยกมาอ้างในเบื้องต้นต่อความที่ว่าพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำไป มีความต่อไปว่า “ตั้งระทาตอกไม้ในพระเมรุ ๔ ระทา หนัง ๒ โรง” การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และที่ชาลาทรงบาตรบูชาหอพระในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นไปก็ด้วยการลอยประทีป การลอยประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นท้าวพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่า ในเวลาฤดูเดือนสิบสอง เป็นเวลาเสด็จลงประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืนพระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามรับราชการ จึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล และคิดคำขับร้องขึ้นขับถวายให้พระเจ้าแผ่นดินทรงพระดำริจัดเรือพระที่นั่ง เทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง สำหรับพระสนมฝ่ายในจะได้ตามเสด็จประพาสได้มากๆ ขึ้นกว่าแต่ก่อน และพระสนมที่ตามเสด็จประพาสในการพระราชพิธีนั้น ย่อมตกแต่งประดับประดากายเป็นอันมาก เมื่อพระสนมทั้งปวงได้ตามเสด็จด้วยกันโดยมากดังนั้น พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องพระราชทานเครื่องวัตถาภรณ์ต่างๆ ทั่วไปเป็นที่ชื่นชมยินดีทั่วกัน มีข้อความพิสดารยึดยาว เนื้อความก็คล้ายคลึงกันกับจดหมายถ้อยคำขุนหลวงหาวัดซึ่งได้กล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า หรือเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นเอง เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ทรงพระภูษาขาวเครื่องราชอาภรณ์ล้วนแต่ทำด้วยเงิน แล้วล่องลงไปตามลำน้ำ มีจุดดอกไม้เพลิงที่หน้าพระอารามต่างๆข้อความยืดยาวอีก แต่ไม่รับประกันว่าฉบับที่ตีพิมพ์ไว้นั้นเป็นความจริงทั้งสิ้นเพราะข้าพเจ้าได้อ่านฉบับเดิมนั้นช้านานมาแล้ว จะถูกต้องกันหรือไม่ถูกต้องไม่ได้ตรวจตราละเอียด แต่ข้อความก็ลงเป็นรอยเดียวกันกับที่มีอยู่ในกฎมนเทียรบาล ได้ความว่า ในฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาที่น้ำแม่น้ำใสสะอาดและมากเต็มฝั่ง ทั้งเป็นเวลาที่สิ้นฤดูฝน ในกลางเดือนนั้นพระจันทร์ก็มีแสงสว่างผ่องใส เป็นสมัยที่สมควรจะรื่นเริงในลำน้ำในเวลากลางคืน พระเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จลงประพาสตามลำน้ำพร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายใน เป็นประเพณีมีมาแต่กรุงสุโขทัยฝ่ายเหนือโน้นแล้ว

การเก่ายกไว้ จะขอว่าแต่ที่กรุงเทพฯ นี้ การลอยประทีปในเดือน ๑๒เป็นการใหญ่กว่าลอยประทีปในเดือน ๑๑ ด้วยอากาศปราศจากฝน และการพระราชกุศลก็เป็นการกลางวันมากกว่ากลางคืน นับว่าเป็นเวลาว่างมากกว่าเดือน ๑๑ ที่ในพระบรมมหาราชวังหน้า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีดอกไม้พุ่มบูชา ๑๐ พุ่ม แต่ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุด ซาวที่นำเทียนชนวนมาถวายจุดในเวลาทรงธรรมกลางคืน แต่ส่วนซึ่งบูชาหอพระในพระบรมมหาราชวังปักพุ่มดอกไม้ย่อมๆ ที่ซาลาที่ทรงบาตรข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสด็จพระราชดำเนินทรงจุดดอกไม้ก่อนที่จะออกทรงธรรม มีแตรสังข์พิณพาทย์ผู้หญิงประโคมด้วย

การลอยพระประทีป เป็นเวลาที่เสด็จออกนอกกำแพงพระราชวังและกำแพงพระนคร เวลากลางคืนจึงได้จัดการป้องกันรักษาแข็งแรง การที่จัดทั้งปวงนี้ก็เป็นธรรมเนียมเดิม ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ปรกติเรียบร้อย และจะให้เป็นการครึกครื้นในแม่น้ำ ถ้าจะว่าตามอย่างโบราณ ที่เป็นการเสด็จพระราชดำเนินประพาสลำน้ำก็เป็นการสมควรกันอยู่ ด้วยเรือที่ทอดทุ่นรักษาราชการนั้นก็เป็นเรือในกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทั้งสิ้น แต่ถ้าจะเทียบกับการขั้นหลังในปัจจุบันนี้ ที่เสด็จไปวังเจ้านายในเวลากลางคืน หรือเสด็จลงทอดพระเนตรโคมในเวลาเฉลิมพระชนมพรรษา การป้องกันรักษาน้อยกว่าลอยพระประทีปมากหลายเท่า ก็เป็นไปตามเวลาที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป แต่การลอยพระประทีปนี้ยังคงอยู่ตามแบบเดิมเหมือนอย่างเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินและเสด็จประพาสตามธรรมเนียมฉะนั้น ที่แพลอยหน้าท่าราชวรดิตถ์ มีเรือบัลลังก์สองลำจอดขนานกัน ในเรือบัลลังก์นั้นแต่เดิมลำในกั้นม่านเป็นที่พระบรรทม, ที่สรง, ที่ลงพระบังคน ดูเหมือนว่าจะเป็นที่ประทับอยู่นานๆ ตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก เครื่องที่สำหรับตั้งนั้นก็มีพระสุพรรณราช และมีขันพระสุธารสอย่างเช่นเสวยพระกระยาหาร การป้องกันรักษา ห้ามเรือที่ไม่ให้เดินในทุ่นตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก เวลาเสด็จขึ้นดูเหมือนว่าในครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จลงไปประทับอยู่ ตั้งแต่หัวค่ำจนสิ้นเวลาลอยพระประทีป สรงเสวยในที่นั้นแต่ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เลิกที่สรง ที่พระบรรทมเสีย คงแต่เครื่องพระสุธารสซึ่งเจ้าพระพนักงานยังจัดอยู่ตามเคย ในเรือบัลลังก์ทั้งสองลำนั้นกั้นม่านสกัดทั้งหัวเรือท้ายเรือ ข้างหัวเรือท้ายเรือเป็นข้างหน้า ที่ตรงม่านสกัดหัวเรือท้ายมีม่านยืดออกไปในน้ำ บังมิให้เจ้าพนักงานที่อยู่หัวเรือท้ายเรือแลเห็นเข้ามาข้างใน ต่อเมื่อเวลาจะปล่อยเรือกระทงจึงได้ชักม่าน ข้างเหนือมีม่านทองสกัดเสมอแนวพนักข้างในอีกชั้นหนึ่ง เพราะใกล้ที่ประทับ ในระหว่างม่านนั้นเป็นที่สำหรับท้าวนางเถ้าแก่ประจำคอยรับเรือกระทง ข้างใต้เป็นที่สำหรับเจ้าคุณท้าวนางเถ้าแก่หรือเจ้านายซึ่งไม่ต้องจุดกระทงเฝ้าในเรือบัลลังก์ลำนอก เรือบัลลังก์ลำในเป็นที่พนักงานนั่งนอกพนัก ในพนักเป็นที่เจ้าจอมอยู่งานนั่ง ส่วนในพนักเรือบัลลังก์ลำนอกนั้นทอดพระยี่ภู่ตั้งพระแสงเป็นที่ประทับ มีเจ้าจอมอยู่งานเฝ้าอยู่ในนั้นแต่เฉพาะที่เชิญเครื่อง กับพระเจ้าลูกเธอที่ตามเสด็จ ชานเรือบัลลังก์ลำนอก ตรงช่องพนักทอดที่ประทับเป็นที่ทรงจุดกระทง ต่อนั้นไปเป็นที่เจ้านายและเจ้าจอมจุดกระทง ที่หัวเรือบัลลังก์ นอกม่านมีเจ้าพนักงานลงประจำคือกรมวัง ๑ กรมทหารในจางวางเจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่น ๘ กรมพระแสงต้น ๑ กรมพระตำรวจนายเรือ ๒ รวมหัวเรือ ๑๒ ท้ายเรือบัลลังก์ กรมวัง ๑ จางวางหัวหมื่นมหาดเล็ก ๖ กรมทหารใน เจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่น ๗ กรมพระแสงต้น ๑ กรมตำรวจนายเรือ ๑ ภายหลังเติมราชเอดเดอแกมป์ด (๑) คน ๑ บ้าง ๒ คนบ้าง และเติมทหารปืนแคตลิงคัน(๒)  ๑ ข้างหัวเรือบัลลังก์มีโขลนลงเรือสำปั้น มีโคมเพชรจอดประจำอยู่เสมอแนวที่เจ้าคุณนั่งลำ ๑ ข้างท้ายเรือบัลลังก์มีเรือทหารในลำ ๑ เรือพันพรหมราชสำหรับปล่อยกระทงลำ ๑ การล้อมวงในลำน้ำทอดทุ่นเป็นสามสาย สายในมีแพหยวกรายเป็นระยะมีไต้ประจำทุกแพตลอดหน้าเรือบัลลังก์ เรือประจำทุ่นสายในข้างเหนือน้ำกรมกองตระเวนขวา ๑ กรมกองกลางขวา ๑ ประตู กรมพระกลาโหม ๑เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ๑ เจ้ากรมพระตำรวจสนมขวา ๑ เรือกรมสรรพากรในสรรพากรนอก ๑ ใต้นหัวเรือบัลลังก์หุ่นสายใน กรมกองตระเวนซ้าย ๑เรือประตูกรมมหาดไทย ๑ กรมกองกลางซ้าย ๑ เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ๑เจ้ากรมพระตำรวจสนมซ้าย ๑ เรือทุ่นกรมท่ากลาง ๑ ภายหลังนี้เติมเรือทหารทอดสมอสกัดเหนือน้ำท้ายน้ำขึ้นอีก ข้างเหนือน้ำกรมทหารหน้า ๔ ลำ ข้างใต้น้ำทหารหน้า ๒ ลำ

ทุ่นสายกลางเหนือน้ำ เรือทุ่นกรมอาสาจาม ๒ ลำ เรือกรมเรือกันขวา ๑ เรือสิงโตกรมอาสาใหญ่ขวา ๑ เรือสางกรมทวนทองขวา ๑ เรือเหรากรมอาสารองขวา ๑ เรือกิเลนกรมเขนทองขวา ๑ เรือทุ่นสามพระคลังทอดเชือก ๑ ข้างใต้น้ำ เรือกรมอาสาจาม ๒ ลำ เรือกรมเรือกันซ้าย ๑ เรือสิงโตกรม

……………………………………………………………

(๑) คือ ราชองครักษ์ เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ยังเรียกกันว่าราชเอดเดอแกมป์

(๒) คือ ปืนกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า